วันจันทร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2556

นิทานอีสป เรื่องสิงโตกับกระต่ายป่า


กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว… ณ กลางป่าใหญ่แถบแอฟริกา สิงโตผู้หิวโซตัวหนึ่งได้เดินหาเหยื่อของมันไปเรื่อย ๆ ด้วยความหิวโหย แล้วขณะนั้น
มันก็ได้ไปพบกับกระต่ายป่าตัวหนึ่งเข้า ” โห่..ช่างน่ากินเหลือเกินเจ้ากระต่ายเอ๋ย ” มันตั้งท่าแล้ววิ่งกวดตามกระต่ายป่า
ตัวนั้นจนทัน และเมื่อกระต่ายป่าต้องจนมุม สิงโตหิวโซตัวนั้นก็จ้องจะจับกินกระต่ายตัวนั้นทันที
แต่ !  ในขณะเดียวกันนั้นก็ได้มีกวางตัวหนึ่งวิ่งผ่านมาข้างๆ  ” อ๊ะ…นั่นมันกวางนี่ เจ้ากวางตัวนั้นจะเป็นอาหารมื้อใหญ่ของ ฉันทีเดียว ” สิงโตรำพึง
ดังนั้น มันจึงปล่อยให้กระต่ายหลุดรอดไป แล้วมันเองก็วิ่งกวดตามกวางไปทันที แต่กวางตัวนั้นวิ่ง ได้เร็วมาก เร็วเสียจนในไม่ช้า มันก็ลับหายไป
 เมื่อสิงโตเห็นหมดหวังจะตามกวางได้ทัน มันก็ว่า “ฉันจะกลับไปกินกระต่าย ดีกว่า” แต่เมื่อมันกลับมาที่ ๆ ซึ่งเมื่อตะกี้ที่มันได้ต้อนกระต่ายจนจนมุมนั้น มันได้พบว่า กระต่ายได้หนีหายไปเสียแล้ว
 “โธ่เอ๋ย ฉันน่าจะกินกระต่ายเสียก่อนตั้งแต่ตอนที่พบเมื่อแรกแล้ว” สิงโตคร่ำครวญ “นี่เป็นเพราะฉันโลภมากเกินไป
ผลสุดท้ายก็เลยไม่ได้ กินอะไรเลย”
นิทานอีสปเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า  “คนที่ฉลาดในบางครั้งจะต้องรู้จักพอในสิ่งที่ตนมีอยู่แล้ว “

นิทานอีสป เรื่องเเมลงวันกับโถน้ำผึ้ง

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว… เหล่าฝูงเเมลงวันต่างพากันดีอกดีใจนัก ที่เห็นโถน้ำผึ้งหกตะเเคงอยู่บนโต๊ะจนน้ำผึ้งไหลออกมานองเต็มโต๊ะ
พวกมันพากันดูดกินน้ำผึ้งเเสนหอมหวานบนโต๊ะ เเละที่เกาะอยู่ตามปากขวดเพื่อดูดกินน้ำผึ้งอย่างตะกละตะกลาม

เมื่อเวลาผ่านไปมันจึงเพิ่งรู้กันว่า น้ำผึ้งนั้นจับติดอยู่ที่ขาเเละปีกของมันจนไม่สามารถจะบินขึ้นได้ พวกเเมลงวันพากันดิ้นทุรนทุรายไปมา พร้อมกับร้องโอดโอย รอความตายอย่างน่าสมเพช
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ” การไม่รู้จักพอในสิ่งนั้น ย่อมนำมาให้พบกับความเดือดร้อน “

หมาจิ้งจอกกับผลองุ่น


หมาจิ้งจอกตัวหนึ่ง ซึ่งหิวโหยไม่ได้กินอาหารมาหลายวันแล้ว พอเดินผ่านต้นองุ่นก็เหลือบมองขึ้นไม้บนต้นก็เห็นผลองุ่นกำลังสุกงอมพอดี เลยพยายามจะกระโดดเพื่อเก็บเอาผลองุ่นนั้นมาให้ได้ แต่กระโดดทีไรก็ไม่ถึงสักที เลยนั่งมองด้วยความท้อแท้ แล้วพูดว่า

“ใครอยากจะเก็บก็เก็บไปเถอะ ข้าไม่ต้องการหรอก นี่มันเป็นผลองุ่นเปรี้ยวแท้ๆเก็บมาได้ก็ไม่อร่อย”

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า คนที่ทำสิ่งใดไม่สำเร็จก็มักจะโทษว่าสิ่งนั้นไม่ดี สิ่งโน้นไม่ดีเสมอ

หมาป่ากับหมาจิ้งจอก




หมาป่า กับหมาจิ้งจอกในป่าสูงแห่งหนึ่งนั้นเมื่อมันได้สาบานตัวเป็นเพื่อนตาย ไม่ทำอันตรายต่อกันและช่วยกันทำมาหากินโดยหมาจิ้งจอกมีหน้าที่ไล่ต้อนสัตว์ป่าที่จะมาเป็นอาหาร ส่วนหมาป่าร่างใหญ่ก็คอยจับสัตว์ป่าเหล่านั้น แล้วแบ่งกันกินอย่างอิ่มหนำสำราญทุกวันไปสมเป็นเพื่อนตายโดยแท้

อยู่มาไม่ช้าไม่นาน ก็ถึงฤดูกาลอันบังเกิดความแห้งแล้งกันดารทั่วไปในป่านั้น บรรดาสัตว์ป่าทั้งหลายเดือดร้อนเหลือประมาณ เพราะอาหารหายากยิ่งขึ้นทุกวันหมาป่า กับหมาจิ้งจอกนั้น ถึงกับอดอาหารสองวันสามวันบ่อยๆ ตลอดมาในที่สุดหมาป่าไม่สามารถทนหิวได้ จึงกระโจนเข้ากัดหมาจิ้งจอกเพื่อนตายของมันเพื่อหวังกินเป็นอาหารจะได้พ้นจากความตายเพราะไม่มีอะไรจะกิน
หมาจิ้งจอกก็ดิ้นร้องขึ้น ก่อนจะกลายเป็นอาหารของหมาป่า ว่า...

"เจ้าเพื่อนตายของข้า คำสาบานของเจ้าเอาไปทิ้งเสียที่ไหนเล่า?"

"เจ้าหน้าโง่ เจ้าเคยเห็นคำสาบานหรือไฉน...ใครบอกเจ้าว่าโลกนี้มีคำสาบานคำสาบานเป็นเพียงคำพูดเท่านั้น ครั้นพูดออกไปแล้วก็ไม่มีตัวตนหรือแม้แต่เงาก็ไม่มี"

ว่าแล้วหมาป่าก็กินหมาจิ้งจอก เป็นอาหารแก้หิวในมื้อนั้นเอง
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า "ไม่มีคำมั่นสัญญาในหมู่โจร"

วันอาทิตย์ที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2556

เรื่องที่ 25 พระเจ้าติรวิกรมเสน กับเวตาล

พระราชาตริวิกรมเสน ทอดพระเนตรเห็นโยคีศานติศีล ก็เดินตรงเข้าไปหา ทรงพาดศพไว้บนอังสา ทรงเหลือบดูโดยรอบก็พบว่าโยคีผู้นั้นนั่งอยู่โคนต้นไม้แต่ลำพังในสุสาน ซึ่งดูอึมครึมในค่ำคืนอันมืดสนิทเพราะเป็นกาฬปักษ์ ท่าทางโยคีผู้นั้นดูกระวนกระวาย แสดงว่ากำลังคอยการมาถึงของพระองค์อยู่ ที่นั่งของฤษีชั่วผู้นี้อยู่ในวงมณฑลสีเหลือง ซึ่งป่นเป็นผงจากกระดูกที่ป่นแล้วบนพื้นดิน ละเลงด้วยเลือดสีแดงสด และมีเลือดในโถอีกสี่ใบซึ่งตั้งอยู่ประจำทิศทั้งสี่ มีตะเกียงที่ใช้มันสมองมนุษย์เป็นน้ำมันหล่อเลี้ยงสะบัดแสงวับแวม และใกล้ ๆ กันนั้นมีกองกูณฑ์สำหรับเผาเครื่องสังเวย ซึ่งมีอยู่เต็มที่ถูกต้องตามลักษณะยัชญพิธีสำหรับฤษีใช้พลีแก่เทพผู้เป็นที่โปรดปรานของตน

พระราชาเสด็จตรงเข้าไปที่โยคีศานติศีล เมื่อโยคีเห็นพระราชานำศพมาให้ตามต้องการก็ลุกขึ้นยืนต้อนรับด้วยความยินดี และกล่าวสัมโมทนียกถาขึ้นว่า “สาธุ มหาราชะ พระองค์สู้อุตส่าห์นำของที่ข้าต้องการมาให้ด้วยความยากลำบาก เป็นความจริงโดยแท้ที่ใคร ๆ เขาพากันสรรเสริญพระองค์ว่าเป็นพระราชาอันประเสริฐ เป็นผู้กล้าหาญซึ่งไม่มีใครสามารถหักได้ พระองค์เป็นผู้ไม่เห็นแก่ตัวเอง แลเห็นประโยชน์ของผู้อื่นเป็นที่ตั้ง นักปราชญ์กล่าวว่า ความยิ่งใหญ่ของมหาบุรุษอยู่ที่ว่า เขาไม่เคยย่อท้อต่องานที่เขาได้รับมอบหมายให้ทำ เขามุ่งมั่นฝ่าฟันอุปสรรคเต็มที่ ทั้ง ๆ ที่ตกอยู่ในอันตราย”

โยคีกล่าวคำพูดอย่างนี้ เพราะมีความอิ่มอกอิ่มใจว่า ตนกำลังจะบรรลุผลสุดท้ายในสิ่งอันปรารถนาสูงสุดแล้ว จึงนำศพลงจากอังสาของพระราชา เอาศพไปอาบน้ำ แล้วเอาน้ำมันจันทน์และของหอมต่าง ๆ มาชโลมร่างจนทั่ว เอาพวงมาลาคล้องคอศพนั้น แล้วเอาศพไปวางไว้ในเขตวงกลมบนพื้นดิน จากนั้นโยคีก็แต่งตัวตนเอง เอาขี้เถ้ากระดูกผีมาทาตามร่าง แล้วสวมสายยัชโญปวีตที่ทอจากเส้นผมมนุษย์ จากนั้นก็นุ่งห่มด้วยเสื้อผ้าของผู้ตาย สำรวมจิตตั้งสมาธิ ร่ายมนตร์เรียกเวตาลให้เข้ามาสิงในซากศพ และทำการบูชาด้วยการมอบบาตรอันมีค่ามาก (อรรฆบาตร) ให้ ในบาตรนั้นใส่ฟันผี ซึ่งติดมากับหัวกะโหลก และบูชาด้วยดอกไม้ และเครื่องหอมต่าง ๆ จากนั้นก็มอบดวงตามนุษย์ให้ และสังเวยเวตาลด้วยเนื้อสด ๆ ของมนุษย์ เมื่อเสร็จพิธีสังเวยแล้วโยคีทุศีลก็กล่าวแก่ท้าววิกรมาทิตย์ซึ่งนั่งอยู่ข้าง ๆ ว่า “เจ้าจงนอนคว่ำหน้าลงบนพื้น แสดงการเคารพด้วยอัษฎางคประดิษฐ์ต่อจอมราชันแห่งมหาเวทผู้มาสถิตอยู่ ณ ที่นี้ และเพื่อท่านจะได้เมตตาประทานพรแก่เจ้า ให้มีความสมปรารถนาตามใจที่เจ้าคิดทุกประการ”

เมื่อราชาได้ยินดังนี้ ทรงรำลึกถึงถ้อยคำของเวตาลที่สั่งเอาไว้ จึงกล่าวแก่โยคีว่า “ข้าแต่ท่านสาธุคุณ ข้าไม่รู้จักการทำอัษฎางคประดิษฐ์ ขอท่านจงทำให้ข้าดูก่อน เพื่อข้าจะได้ทำอย่างถูกต้อง” โยคีได้ฟังก็ทอดตัวลงนอนคว่ำด้วยลักษณะอัษฎางคประดิษฐ์ แสดงลักษณะอวัยวะแปดส่วนแนบพื้นดินให้ดู พระราชาเห็นได้ทีก็ถอดพระแสงดาบจากฝัก ฟันคอโยคีขาดกระเด็นไปในชั่วพริบตา จากนั้นพระราชาทรงผ่าอกโยคี ล้วงเอาหัวใจอันเป็นดอกบัวจากอกออกมา และมอบศีรษะกับหัวใจของโยคีร้ายให้เป็นรางวัลแก่เวตาล

ทันใดนั้นก็มีเสียงโห่ร้องกึกก้องของปีศาจทั้งปวงจากทุกทิศทุกทาง แสดงความยินดีแก่พระราชาผู้กำจัดนักพรตชั่วร้ายให้สิ้นชีวิตไป นำอิสรภาพมาสู่ภูตผีปีศาจอีกครั้งหนึ่ง เวตาลผู้สิงอยู่ในร่างศพก็กล่าวแก่พระราชาว่า “มหาราชัน เจ้าโยคีทุศีลมันทำทุกวิถีทางเพื่อหวังเป็นจักรพรรดิแห่งวิทยาธร แต่ก็ไม่สำเร็จ ส่วนพระองค์สิจะได้ตำแหน่งนั้นโดยความดีของพระองค์เอง ตำแหน่งนี้จะคอยพระองค์อยู่หลังจากที่ทรงเสวยสุขในโลกมนุษย์จนสิ้นอายุขัยแล้ว ข้าขอโทษในกาลที่แล้วมาในการที่ยั่วยวนประสาทพระองค์ แต่ก็ไม่ทรงถือโกรธต่อข้า บัดนี้ข้าจะถวายพรแก่พระองค์ ขอทรงเลือกอะไรก็ได้ตามใจปรารถนาเถิด”

พระเจ้าตริวิกรมเสนได้ฟังคำพูดของเวตาล ก็แย้มพระสรวล ตรัสว่า “เพราะเหตุที่เจ้ายินดีต่อข้า และข้าก็ยินดีในความมีน้ำใจของเจ้าเช่นเดียวกัน พรอันใดที่ข้าจะปรารถนาก็เป็นอันสมบูรณ์แล้ว ข้าเพียงแต่อยากจะขออะไรสักอย่างเป็นที่ระลึกระหว่างข้ากับเจ้า นั่นก็คือนิทานที่เจ้ายกปัญหามาถามข้าถึงยี่สิบสี่เรื่อง และคำตอบของข้าก็ให้ไปแล้วเช่นเดียวกัน แลครั้งที่ยี่สิบห้าคือวันนี้ถือเป็นบทสรุป แสดงอวสานของเรื่อง ขอให้นิทานชุดนี้จงมีเกียรติแพร่กำจายไปในโลกกว้าง”

เมื่อพระราชาตรัสดังนี้ เวตาลก็สนองตอบว่า “ขอจงสำเร็จ โอ ราชะ บัดนี้จงฟังเถิด ข้าจะกล่าวถึงคุณสมบัติที่ดีเด่นของนิทานชุดนี้ สร้อยนิทานอันร้อยรัดเข้าด้วยกันดังสร้อยมณีสายนี้ ประกอบด้วยยี่สิบสี่เรื่องเบื้องต้น แลมาถึงบทที่ยี่สิบห้า อันเป็นบทสรุปส่งท้าย นับเป็นปริโยสาน นิทานชุดนี้จงเป็นที่รู้จักกันในนามของเวตาลปัญจวิงศติ (นิทานยี่สิบห้าเรื่องของเวตาล) จงมีเกียรติยศบันลือไปในโลก และนำความเจริญมาสู่ผู้อ่านทุกคน ใครก็ตามที่อ่านหนังสือแม้แต่โศลกเดียว หรือเป็นผู้ฟังเขาอ่านก็เช่นเดียวกัน จักรอดจากคำสาปทั้งมวล บรรดาอมนุษย์ทั้งหลาย มียักษ์ เวตาล กุษมาณฑ์ แม่มด หมอผีและรากษส ตลอดจนสัตว์โลกประเภทเดียวกันนี้ จงสิ้นฤทธิ์เดชเมื่อได้ยินใครอ่านนิทาน อันศักดิ์สิทธิ์นี้” เมื่อเวตาลประสิทธิ์ประสาทวัจนะดังกล่าวนี้แล้วก็ออกจากศพและหายวับไปด้วยมายาเวท ไปสู่ที่อันพึงปรารถนา

พระศิวะเป็นเจ้าเมื่อทรงฟังนิทานกถาของเวตาลจบลง ทรงพอพระทัยมาก จึงแสดงพระองค์ให้ปรากฎ แวดล้อมด้วยเหล่าเทพทั้งปวง เพื่อให้พระราชาได้เห็นประจักษ์แก่ตา และตรัสแก่พระราชาผู้น้อมคารวะอยู่เบื้อหน้าว่า “ดีจริง ลูกของข้า สำหรับความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวของลูกที่สามารถสังหารอ้ายโยคีทุศีลลงได้ มันใฝ่ฝันนักหนาที่จะได้เป็นราชาแห่งวิทยาธรทั้งหลาย นานมาแล้ว ข้าได้สร้างเจ้าขึ้นมาจากอนุภาคของตัวข้าเองให้เจ้าเป็นวิกรมาทิตย์ (ผู้กล้าหาญดังดวงอาทิตย์) เพื่อให้เจ้าได้ปราบปรามพวกอสูรร้ายซึ่งพากันมาเกิดในรูปของคนเถื่อน (มเลจฺฉ) และในวันนี้เจ้าก็ปรากฎให้ข้าเห็นในรูปของนักรบผู้ยิ่งใหญ่โดยแท้ในนามของตริวิกรมเสน เพื่อปราบปรามอาณาจักรต่าง ๆ และทวีปน้อยใหญ่ให้ราบคาบ และเป็นอธิราชผู้ครองโลกแต่ผู้เดียว หลังจากนั้นจักได้เป็นจักรพรรดิแห่งวิทยาธรทั้งหลายในสวรรค์ และหลังจากที่เจ้าได้ครองสวรรค์มาช้านานจนเกิดความเบื่อหน่ายแล้ว เจ้าก็จะสละแดนสวรรค์ไปด้วยใจอันแน่วแน่ และในที่สุดเจ้าก็จะได้บรรลุโมกษะ (ความหลุดพ้น) ข้าผู้เป็นพระเจ้า บัดนี้ข้าจะให้ดาบวิชัยยุทธ์แก่เจ้าเพื่อใช้ปราบศัตรูทั้งมวล จนกว่าจะบรรลุถึงจุดหมายปลายทางอย่างที่ข้าว่าไว้”

เมื่อพระผู้เป็นเจ้าตรัสข้อความนี้แก่พระราชาวิกรมาทิตย์แล้ว ก็ยื่นพระแสงดาบอันเรืองเดชให้แก่พระราชาเป็นของขวัญ แล้วอันตรธานไปจากที่นั่น ฝ่ายพระเจ้าตริวิกรมเสน ทรงเห็นพระราชภารกิจที่ได้รับมากระทำบรรลุผลโดยสมบูรณ์แล้ว หมดเรื่องที่จะต้องทำต่อไปอีก ก็เสด็จกลับคืนนครประดิษฐาน (อุชชยินี) ณ ที่นั่น พระองค์ได้รับการต้อนรับอย่างสมพระเกียรติจากอาณาประชาราษฎร์ทั้งปวงที่มาคอยเฝ้ารับเสด็จ และในกาลต่อมามินาน ชนทั้งหลายก็ได้ยินได้ฟังมหานิทานเรื่องที่พระองค์ได้ฟังมาตลอดราตรีที่สุสานอันน่ากลัวนอกพระนครนั้น ตลอดเวลากลางวันต่อมา พระองค์ทรงชำระสระสนานอินทรีย์ด้วยน้ำอันเอามาจากสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ จากนั้นทรงแจกมหาทานแก่คนทั้งหลายเพื่อบูชาพระศิวะ มีการเต้นรำทำเพลงนานาชนิดอย่างเอิกเกริกทั่วทั้งพระนคร ต่อจากนั้นมินานพระราชาผู้ทรงเทพอาวุธอันเรืองเดช ก็เสด็จออกไปกำราบปราบปรามบ้านเมืองน้อยใหญ่จนได้แผ่นดินโลก ตลอดจนทวีปใหญ่น้อยทั้งปวงเรื่อยลงไปทางทิศทักษิณ จนจรดมหาสาครที่แหลมกุมารี เมื่อทรงครองแผ่นดินโลกและมหาสาครทั้งเจ็ดแล้ว ทรงกระทำพิธีปราบดาภิเษกเป็นพระจักรพรรดิเจ้าโลก และโดยความโปรดปรานของพระศิวะเป็นเจ้า พระองค์ได้เป็นจอมราชันแห่งวิทยาธร เสวยสมบัติโลกและสวรรค์มาช้านาน ก็บังเกิดความเบื่อหน่าย สละทุกสิ่งทุกอย่าง แล้วบำเพ็ญเพียรอย่างสูงสุด ได้บรรลุโมกษธรรม เข้าถึงองค์พระศิวะเป็นที่พึ่ง ก็ได้รวมเข้าสู่องค์พระเป็นเจ้า เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพระองค์ชั่วนิรันดร

จบบริบูรณ์

เรื่องที่ 4 พระเจ้าศูทรกะกับพราหมณ์ผู้ซื่อสัตย์ชื่อ วีรวร

เวตาลถูกจับครั้งที่ 4 และได้เล่านิทานให้แก่พระราชาฟังในระหว่างการเดินทาง มีเนื้อหา ดังนี้

แต่ครั้งดึกดำบรรพ์ ยังมีนครใหญ่แห่งหนึ่งชื่อ โศภาวดี มีพระเจ้าแผ่นดินปกครองอยู่ทรงนามว่า ศูทรกะ เป็นผู้ห้าวหาญอย่างยอดยิ่งในสงคราม ซึ่งไฟแห่งชัยชนะของพระองค์ถูกกระพือโหมให้เจิดจ้าด้วยพัดที่โบกจากหัตถ์ของนางกษัตริย์ที่ตกเป็นเชลยเพราะสวามีทั้งหลายต้องพ่ายแพ้ในสงคราม ข้าคิดว่าแผ่นดินโลกนี้มีเกียรติมหาศาลในรัชสมัยของพระราชาองค์นี้โดยแท้ ทั้งนี้เพราะพระองค์ทรงบำเพ็ญบารมีมาโดยตลอด มิได้หยุดเว้่นแม้แต่สักวัน คุณธรรมของพระองค์ชนะใจแม้กระทั่งแม่พระธรณี ทำให้พระเทวีลืมบุคคลอื่นโดยสิ้นเชิง แม้องค์พระรามจันทร์ผู้ยอดเยี่ยมในวีรจริตก็ตาม

สมัยหนึ่งมีพราหมณ์คนหนึ่งชื่อ วีรวร เดินทางมาจากแคว้นมาลวะ เพื่อมารับจ้างทำงานในราชสำนักของพระราชา เพราะทราบกิตติศัพท์ว่าพระราชาผู้นี้เป็นผู้โปรดปรานคนกล้า ภรรยาของพราหมณ์ชื่อนางธรรมวดี และทั้งสองสามีภริยามีบุตรชายด้วยกันชื่อ สัตตววร และบุตรสาวชื่อวีรวดี คนทั้งสามนี้เป็นครอบครัวของเขา นอกเหนือจากลูกน้องซึ่งมีอีกสามคน วีรวรนั้นเหน็บกริชไว้ที่สีข้าง มือข้างหนึ่งถือดาบ และอีกข้างหนึ่งถือโล่

ถึงแม้ว่าเขาจะรวมกันเป็นบริษัทอันน้อยนิดเท่านี้ก็ตาม เขายังกล้าเรียกร้องค่าจ้างต่อพระราชาถึงวันละห้าร้อยเหรียญทีนาร์ (เหรียญทองโบราณชนิดหนึ่งของอินเดีย) แต่พระราชาศูทรกะก็มิได้เกี่ยงงอน ทั้งนี้เพราะพอพระทัยในรูปร่างท่าทางอันแข็งแรงของเขา จึงตกลงจ้างเอาไว้ แต่ก็ทรงพิศวงในพระทัยไม่หาย ว่าเขาเอาเงินไปทำอะไรมากมายทั้ง ๆ ที่เขาก็เลี้ยงคนเพียงไม่กี่คน พระราชาจึงสั่งให้สายลับของพระองค์ติดตามดูพฤติกรรมของเขาอย่างใกล้ชิด ความจริงปรากฎว่าทุก ๆ วัน วีรวรจะต้องเข้าเฝ้าพระราชาตอนเช้า ตอนกลางวันยืนยามอยู่หน้าประตูวัง มือถือดาบมั่นคง หลังจากนั้นก็กลับไปบ้าน จ่ายเงินหนึ่งร้อยทีนาร์แก่ภรรยาเป็นค่าอาหาร และจ่ายหนึ่งร้อยเหรียญเพื่อเสื้อผ้า วิเลปนะเครื่องลูบไล้ร่างกาย และซื้อหมากพลู เมื่ออาบน้ำแล้วเอาเงินหนึ่งร้อยเหรียญไปบูชาพระวิษณุและพระศิวะ อีกสองร้อยเหรียญสุดท้ายใช้ทำบุญแก่พราหมณ์ที่ยากจน ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้คือการใช้จ่ายประจำวันจากเงินค่ารับจ้างห้าร้อยเหรียญต่อวัน หลังจากนี้วีรวรก็ทำการบูชายัญด้วยเนยใส และทำพิธีอื่น ๆ อีก เสร็จแล้วจึงรับประทานอาหาร เมื่อรับประทานอาหารเสร็จก็กลับไปอยู่ยามหน้าประตูวังตามเดิมตลอดถึงเวลาค่ำคืนยืนถือดาบเปลีอยอยู่

เมื่อพระราชาศูทรกะได้ทราบเรื่องจากสายลับที่ไปสืบได้ความว่า วีรวรเป็นผู้ประพฤติชอบธรรมดังนั้น ก็ทรงชื่นชมยิ่งนัก จึงโปรดให้จารบุรุษเหล่านั้นยุติการติดตามวีรวร และทรงนิยมเลื่อมใสว่าเขาช่างเป็นคนดีนี่กระไร

วันหนึ่งอากาศร้อนจัด ดวงอาทิตย์แผดแสงแรงกล้าจนแทบจะทนไม่ไหว และแล้วมรสุมใหญ่ก็เคลื่อนเข้ามาพร้อมด้วยเสียงคำรามกึกก้องในท้องฟ้า สายฝนกระหน่ำลงมาอย่างรุนแรงไม่ขาดสายทั้งกลางวันและกลางคืน แต่วีรวรก็ยังยืนนิ่งไม่สะทกสะท้านอยู่กลางห่าฝนที่ประตูพระราชวัง พระเจ้าศูทรกะทอดพระเนตรเห็นในเวลากลางวันจากยอดมนเทียร ครั้นเวลากลางคืนเสด็จขึ้นไปยอดมนเทียรอีกเพื่อดูว่าเขายังอยู่ที่เดิมหรือเปล่า จากที่นั้นพระราชาตะโกนลงไปว่า "ใครยืนอยู่ที่ประตูวังนั่น" เมื่อวีรวรได้ยินก็ตอบไปว่า "ข้าพระบาทเอง พระเจ้าข้า" พระราชาศูทรกะทรงนึกในพระทัยว่า "อา วีรวร เจ้าช่างเป็นชายที่เข้มแข็งและจงรักภักดีต่อข้ายิ่งนัก ข้าจะเลื่อนเจ้าให้มีตำแหน่งสูงขึ้นไปกว่านี้" เมื่อพระราชาทรงคิดดังนี้แล้วก็เสด็จลงจากยอดมนเทียรเข้าสู่สิริไสยาและเข้าบรรทม

ในวันรุ่งขึ้น เมฆดำในท้องฟ้าก็ยังหลั่งฝนลงมาอย่างรุนแรงตามเดิม ความมืดแผ่ซ่านไปทั่วเหมือนจะบดบังไม่ให้เห็นสวรรค์อีกต่อไป พระราชาเสด็จขึ้นไปบนยอดมนเทียรอีกครั้งด้วยความสนใจใคร่รู้ ทรงตะโกนถามลงไปด้วยเสียงอันแจ่มใสว่า "ใครยืนเฝ้าหน้าประตูปราสาทนั่น" วีรวรก็ตะโกนขึ้นไปว่า "ข้าพระบาทอยู่ที่นี่"

ขณะที่พระเจ้าแผ่นดินกำลังนึกชื่นชมองครักษ์ของพระองค์อยู่นั้น พลันได้ยินเสียงผู้หญิงร้องไห้คร่ำครวญมาแต่ที่ไกล เป็นเสียงโหยหวนเหมือนคนมีทุกข์ใหญ่ปิ่มว่าใจจะขาดรอน เมื่อพระราชาได้สดับดังนั้นก็บังเกิดความสงสารจับใจ กล่าวแก่พระองค์เองว่า "ในอาณาจักรของข้า ไม่มีใครถูกบังคับกดขี่ ไม่มีคนยากไร้ หรือมีใครเดือดร้อน ก็ผู้หญิงคนนี้เป็นใครเล่า จึงมาพิลาปร่ำไห้อยู่แต่ผู้เดียวในยามค่ำคืนเช่นนี้" คิดดังนี้แล้วพระราชาก็ออกคำสั่งแก่วีรวรผู้ยืนอยู่ข้างล่างว่า "ฟังนะวีรวร ข้าได้ยินเสียงผู้หญิงร้องไห้ในที่ไกล จงออกไปดูว่านางคือใคร และนางร้องไห้ทำไม"

เมื่อวีรวรได้ฟังรับสั่งก็กราบทูลว่า "ข้าพระบาทจะไปสืบดู พระเจ้าข้า" แล้วออกเดินหา มือถือดาบกระชับแน่น มีกริชห้อยเอว ค่อยด้อมมองเหมือนรากษสที่ด้อมหาเหยื่อ มีแสงฟ้าแลบแวบวาบจากท้องฟ้าดูประหนึ่งแสงจากดวงตาของอสูรร้าย และเม็ดฝนซึ่งตกกราดไปทั่วนั้นเล่าก็ดูประหนึ่งก้อนหินที่มันขว้างปามาฉะนั้น พระราชาศูทรกะเมื่อแลเห็นองครักษ์หนุ่มออกวิ่งไปแต่ผู้เดียวในราตรีเช่นนั้น พระทัยของพระองค์ก็เป็นห่วง และเกิดความอยากจะรู้เหตุการณ์จึงรีบเสด็จลงจากยอดมนเทียร พระหัตถ์กุมดาบวิ่งตามหลังไปติด ๆ แต่ลำพังโดยที่เขาไม่ทันรู้

วีรวรวิ่งติดตามเสียงคร่ำครวญไปจนถึงบึงแห่งหนึ่งอยู่นอกพระนคร ณ ที่นั้น ชายหนุ่มแลเห็นหญิงคนหนึ่งนั่งอยู่ในบึงกำลังเปล่งเสียงร้องไห้คร่ำครวญอยู่ นางแลเห็นเขาก็กล่าวว่า "โอ ท่านผู้วีระ ท่านผู้มีเมตตา ท่านผู้มีใจอันกว้างขวาง ขอท่านจงช่วยเหลือข้าด้วยเถิด ข้าจะอยู่ได้อย่างไรเล่า ถ้าปราศจากท่านเสียแล้ว" ฝ่ายวีรวรผู้ซึี่งพระราชาแอบติดตามมาเงียบ ๆ ได้ฟังถ้อยคำของหญิงลึกลับก็กล่าวด้วยความสนเท่ห์ว่า "เธอเป็นใครทำไมมานั่งคร่ำครวญอยู่ที่นี่"

นางได้ฟังก็ตอบว่า "วีรวรที่รัก ท่านจงรู้เถิดว่าข้านี่แหละคือแม่นางธรณี และพระราชาศูทรกะนั้นเป็นนาถะของข้า น่าเสียดายที่พระองค์จะต้องสิ้นพระชนม์เสียแล้วนับแต่นี้ไปอีกสามวัน ข้าจะอยู่ต่อไปได้ไฉน และข้าจะหาใครที่เป็นที่พึ่งอันวิเศษสุดเช่นพระองค์ได้ที่ไหนเล่า ด้วยเหตุนี้แหละข้าจึงเศร้าโศกและมานั่งคร่ำครวญสงสารตัวเองและพระราชาองค์นั้นด้วย"

วีรวรได้ยินนางกล่าวก็ตกใจ กล่าวละล่ำละลักว่า "เรื่องเป็นเช่นนั้นหรือ โอ้พระปฤถิวีเทวี จะมีหนทางใดที่จะช่วยชีวิตของพระราชาไว้ได้เล่า เหตุใดพระโลกนาถจะต้องสิ้นพระชนม์ชีพด้วยเล่า"

พระธรณีนิ่งไตร่ตรองอยู่ครู่หนึ่งจึงตอบว่า "มีอยู่ทางเดียวเท่านั้นที่จะพลิกผันชะตากรรมนี้ได้ และเจ้าผู้เดียวที่จะรับภาระนี้ไป"

เมื่อได้ฟังดังน้น วีรวรก็รีบรับคำว่า "บอกมาเถิด พระแม่เจ้า บอกมาเร็ว ๆ เพื่อข้าจะได้รีบทำ ข้าเต็มใจทุกอย่างแม้จะต้องพลีด้วยชีวิตของข้าก็ตาม"

พระเมทนีได้ฟังก็กล่าวว่า "ใครเล่าจะกล้าหาญและภักดีต่อองค์พระภูบดีเหมือนเจ้า จงฟังคำของข้าให้ดี วิธีที่จะช่วยพระนฤบดินทร์ได้มีอยู่ทางเดียวคือ เจ้าต้องเอาลูกของเจ้าคือสัตตววรสังเวยต่อพระแม่เจ้าจัณฑี (ผู้ดุร้าย หมายถึงพระอุมา มเหสีของพระศิวะในปางดุร้าย ซึ่งเป็นปางที่พระเทวีมาปรากฏพระองค์เพื่อทำสงครามกับเหล่าอสูรเท่านั้น บางทีเรียกว่าเจ้าแม่กาลี) พระมหาเทวีผู้ทรงเกียรติระบือจะทรงปรากฏพระกายต่อหน้าผู้ภักดีต่อพระองค์และพร้อมจะทรงช่วยได้เสมอ พระจัณฑีผู้นี้ประทับอยู่ภายในวิหารที่อยู่ใกล้พระราชวังนี้แหละ เจ้าจงทำอย่างที่ข้าแนะและพระราชาก็จะปลอดภัย และมีชีวิตยืนยาวต่อไปอีกร้อยปี ถ้าเจ้าจะปฏิบัติตามคำของข้าโดยเร็ว ข้าก็เชื่อแน่ว่าพระชนม์ชีพของพระองค์จะดำรงอยู่ แต่ถ้าเจ้ามัวแต่รีรอ ก็เชื่อเถิดว่า พระราชาจะต้องสิ้นชีวิตภายในสามวั้นนับแต่วันนี้เป็นต้นไป

เมื่อพระปฤถิวีเทวีแจ้งให้ทราบเรื่องความลับดังนี้ วีรวรก็ให้คำมั่นสัญญาว่า "ข้าแต่พระเทวี ข้าจะไปดำเนินการเรื่องนี้โดยเร็วที่สุด" พระเทวีจึงให้พรว่า "ขอจงสำเร็จเถิด" แล้วอันตรธานหายไป ถ้อยคำทั้งหมดตั้งแต่ต้นจนจบดังกล่าวมิได้รอดพ้นโสตของพระราชาไปได้ เพราะพระองค์แอบติดตามวีรวรมาอย่างลับ ๆ โดยที่วีรวรไม่รู้ตัว

วีรวรกลับไปบ้านของตนอย่างรวดเร็วในความมืด ส่วนพระราชาศูทรกะมีความอยากรู้ว่าเหตุการณ์จะดำเนินไปอย่างไร ก็แอบย่องตามหลังชายหนุ่มไปติด ๆ โดยเขาไม่รู้สึกตัว แลเห็นวีรวรตรงเข้าไปหานางธรรมวดีผู้เป็นภรรยาและแจ้งให้นางทราบว่า ตนได้รับคำแนะนำจากพระธรณีให้มาเอาบุตรชายไปสังเวยต่อเจ้าแม่กาลี เพื่อช่วยชีวิตพระราชา เมื่อนางได้ฟังก็กล่าวว่า "ท่านพี่ เรามีหน้าที่ต้องพิทักษ์พระชนม์ชีพของพระราชา จงอย่ารีรอเลย รีบไปปลุกลูกชายของเราเถิด และแจ้งให้เขาทราบด้วยตัวท่านพี่เอง"

วีรวรจึงปลุกลูกชายของตนให้ลุกขึ้น เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้ฟัง และกล่าวว่า "สัตตววรลูกรัก จงรู้เถิดว่า ถ้าเจ้ายอมเป็นเครื่องสังเวยพระแม่เจ้าจัณฑี พระราชาก็จะรอดชีวิต แต่ถ้าเจ้าไม่ยินยอม พระราชาก็จะต้องสูญสิ้นพระชนม์ชีพภายในสามวัน"

สัตตววรแม้จะเป็นเด็กก็ตาม แต่ก็มีความกล้าหาญอย่างยอดยิ่งสมกับชื่่อ สัตตววร ซึ่งมีความหมายว่า "ผู้มีชื่อเสียงอันโดดเด่นเพราะความกล้าหาญ" เด็กน้อยจึงตอบบิดาว่า "ลูกจะสังเวยชีวิตเพื่อพระราชาเอง เพื่อจะได้ตอบแทนพระคุณของพระองค์ผู้ประทานข้าวปลาอาหารเลี้ยงชีวิตของพวกเรา ฉะนั้นจะต้องลังเลทำไม เอาลูกไปวางบนแท่นสังเวยของพระแม่เจ้าเถิด ขอให้ลูกเป็นผู้รับภาระอันนี้เพื่อความผาสุกขององค์นฤบดีเถิด"

เมื่อสัตตววรกล่าวเช่นนี้ วีวรก็โล่งอก กล่าวว่า "ลูกเอ๋ย เจ้าช่างสมเป็นลูกพ่อยิ่งนัก"

ฝ่ายพระราชาผู้สะกดรอยตามมาและแอบฟังอยู่ข้างนอก ได้ยินเรื่องราวโดยตลอดก็ทรงตื้นตันพระทัยนัก ทรงรำพึงแก่พระองค์เองว่า "อา คนเหล่านี้มีความกล้าหาญเหมือนกันหมดโดยแท้"

วีรวรนำบุตรชายออกจากบ้าน ให้เด็กน้อยนั่งบนบ่า และนางธรรมวดีผู้ภรรยาก็จูงลูกสาวชื่อ วีรวดี ติดตามมาด้วย พากันไปยังเทวาลัยของพระจัณฑี ฝ่ายพระราชาก็ติดตามมาดูเหตุการณ์อย่างกระชั้นชิด

คร้ันแล้ววีรวรก็อุ้มลูกชายลงจากบ่า และวางบนแท่นสังเวยของเทวรูป เมื่อสัตตววรถูกนำมาสู่เบื้องพระพักตร์พระเทวีก็มิได้มีความหวาดหวั่นแต่ประการใด ก้มศีรษะลงอย่างนอบน้อม กล่าวว่า "ข้าแต่พระเทวี ขอให้การสังเวยศีรษะของข้าในวันนี้จงเป็นผลยังพระราชาศูทรกะให้ดำรงพระชนม์ชีพยืนนานถึงร้อยปีด้วยเถิด ขอให้พระองค์ทรงปกครองราชอาณาจักรด้วยความเกรียงไกรไร้ผู้ต้านทานเถิด"

เมื่อสัตตววรกล่าวจบลง วีรวรก็เปล่งเสียงด้วยความยินดีว่า "ดีละ ลูกของพ่อ" พร้อมกับชักดาบออกจากฝักฟันฉับลงไปที่คอของบุตรชาย แล้วนำไปถวายเบื้องพระพักตร์พระจัณฑีเทวี และกล่าวว่า "ข้าพเจ้าได้สังเวยบุตรต่อองค์พระแม่เจ้าแล้ว ขอทรงช่วยให้พระราชารอดพ้นความตายด้วยเถิด"

ทันใดก็มีเสียงอุโฆษลอยมาในอากาศทำให้ได้ยินทั่วกันว่า "สาธุ วีรวรเจ้าช่างเป็นคนซื่อสัตย์และภักดีต่อพระราชานี่กระไร จะหาใครเสมอเหมือนเจ้าก็ยากนัก เพราะการที่เจ้าทำการสังเวยต่อข้าด้วยชีวิตของลูกชายผู้ประเสริฐดังนี้ พระราชาศูทรกะจะมีพระชนม์ชีพยาวนาน และอาณาจักรของพระองค์จะรุ่งโรจน์สืบไปชั่วกาลนาน"

ขณะนั้นเองนางวีรวดีบุตรสาวของวีรวรก็ลุกขึ้น ตรงไปสวมกอดศีรษะของพี่ชาย ซึ่งหาชีวิตไม่แล้ว สะอึกสะอื้นด้วยความรันทด และด้วยความทุกข์แสนศัลย์สุดทีี่จะทนทาน หัวใจนางก็แตกสลายล้มลงขาดใจตาย พระราชาทรงเห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้โดยตลอดจากที่ซ่อนของพระองค์

ทันใดนั้นนางธรรมวดีผู้เป็นภรรยาของวีรวรก็ลุกขึ้นกล่าวแก่สามีว่า "เราได้ช่วยเหลือพระเจ้าแผ่นดินและอาณาจักรของพระองค์ไว้แล้ว บัดนี้ข้ามีบางสิ่งจะพูดกับท่าน ก็ตั้งแต่ลูกสาวของข้า แม้เป็นเด็กไร้เดียงสา ไม่รู้อิโหน่อิเหน่อะไรด้วย ยังต้องมาตายเพราะความโศกเศร้าถึงพี่ชาย เป็นอันว่าชีวิตของลูกทั้งสองของข้าก็สิ้นสูญไปแล้ว ชีวิตของข้าจะมีประโยชน์อันใดอีกเล่า ข้าเป็นคนโง่เองที่มิได้เสนอตัวเองเพื่อสังเวยตั้งแต่แรกเพื่อความอยู่รอดของพระราชา ฉะนั้นขอให้ข้าเข้ากองไฟตายพร้อมกับลูก ๆ ด้วยเถิด"

เมื่อนางปลงใจจะทำเช่นนี้ วีรวรก็ขัดไม่ได้ จึงกล่าวแก่นางว่า "นางผู้เป็นภัฏฏินี (หญิงผู้เจริญ หญิงผู้ดี) ของข้า ถ้าเป็นความประสงค์ของเจ้า ก็จงทำเถิด ขอความเจริญจงมีแก่เธอ ข้ารู้ว่าข้าไม่อาจจะยับยั้งเจ้าได้ เพราะเจ้ามีความตั้งใจแน่วแน่ที่จะทำเช่นนี้ ข้ารู้ว่าเจ้าจะทนทานต่อไปอีกไม่ไหวเพราะเมื่อสิ้นลูก ชีวิตเจ้าก็พลอยสิ้นสูญไปด้วย แต่อย่าโทษว่าเป็นความผิดของตัวเองเลย เพราะเจ้าเองมิได้ถูกกำหนดให้ต้องสังเวยชีวิต ตัวข้าก็เช่นเดียวกันที่จะต้องสังเวย ถ้ามิใช่ความประสงค์ของพระแม่เจ้าที่ประสงค์เฉพาะลูกชายของข้าเท่านั้น เจ้าจงคอยอยู่ที่นี่ก่อน จนกว่าข้าจะจัดกองไฟสำหรับเจ้าด้วยฟืนเหล่านี้ และทำรั้วล้อมรอบมณฑลแห่งยัชญพิธีของพระแม่เจ้าเสียก่อน" วีรวรกล่าวจบก็ลงมือทำจิตกาธาน (ที่เผาศพ ,เชิงตะกอน) และรั้วยัชญมณฑลจนเสร็จเรียบร้อย แล้ววางศพลูกทั้งสองบนกองฟืน จุดไฟลุกโชติช่วงด้วยตะเกียง

นางธรรมวดีเห็นทุกสิ่งจัดเตรียมเรียบร้อยแล้วก็คุกเข่าลงแทบเท้าสามีกล่าวอำลา และหลังจากที่บูชาพระแม่เจ้าจัณฑีแล้ว ก็สวดมนตร์และอธิษฐานว่า "ขอให้สามีในปัจจุบันของข้าได้ไปเจอกันอีกในชาติหน้าภพใหม่ และขอให้การสังเวยชีวิตของข้าจงเป็นผลเพื่อสวัสดิภาพของพระราชานั้นทุกประการ" กล่าวจบนางผู้เลิศด้วยคุณธรรมก็โผร่างเข้าหากองไฟอันช่วงโชติในจิตกาธานซึ่งเป็นเปลวแลบเลียไปทั่วทุกทิศทุกทาง

ครั้นแล้ววีรวรบุรุษผู้วีระก็กล่าวแก่ตนเองว่า
"เราได้ทำทุกสิ่งไปแล้วเพื่อการรอดชีวิตของพระราชา และทำตามที่เสียงสวรรค์ได้เป็นประจักษ์พยานรับรู้ บัดนี้เราก็ใช้หนี้ให้แก่นายของเราผู้ให้ข้าวให้น้ำเรากินจนหมดสิ้นแล้ว บุญคุณอื่นใดเป็นอันยุติ เดี๋ยวนี้เราก็เป็นอิสระแล้ว ประโยชน์อันใดที่เราจะยึดมั่นในชีวิตนี้อีกต่อไป การมีชีวิตอยู่โดยปราศจากผู้เป็นที่รักคือลูกและเมียย่อมไร้ค่าสำหรับคนซึ่งมีหน้าที่จะต้องกระทำอย่างเรา ก็เมื่อเป็นเช่นนี้ไยเราไม่สังเวยชีวิตที่เหลืออยู่นี้ให้แก่พระทุรคาเทวี(เทวีผู้เข้าถึงยาก หมายถึงพระอุมาปางดุร้าย) เล่า"

เมื่อคิดดังนี้แล้วเขาก็ก้าวเข้าไปยืนอยู่เบื้องพระพักตร์ของพระเทวี และกล่าวโศลกถวายด้วยความนอบน้อมว่า "ขอเกียรติคุณจงมีแด่พระเทวีผู้ประหารมหิษาสูร (อสูรผู้มีร่างเป็นควาย เป็นอสูรร้ายกาจที่พระทุรคาต้องเสด็จมาปราบและทรงประหารมันได้ในที่สุด ด้วยเหตุนี้จึงทรงได้นามว่า มหิษาสรมรรทินี ) ในบรรพกาล พระผู้ทำลายชีพของทานพรุรุ (ทานพ ชื่อรุรุ เป็นชื่อของอสูรหรือทานพผู้หนึ่งที่ได้รับพรจากพระพรหมแล้วมีใจกำเริบ ยกทัพไปย่ำยีสวรรค์ บรรดาทวยเทพต่างก็หนีไปเฝ้าพระทุรคาหรือศักติ (มเหสีพระศิวะ) ที่ภูเขาอัญชัน และทูลขอร้องให้ช่วย พระเทวีจึงเสด็จมาปราบ อสูรรุรุ และทรงประหารอสูรด้วยเล็บพระบาท) โอ พระเทวีผู้ทรงตรีศูลเป็นเทพาวุธ ขอความรุ่งโรจน์จงมีแด่พระโลกมาตา ผู้เป็นยอดแห่งผู้เป็นมารดาทั้งหลาย พระองค์เป็นผู้นำความบันเทิงสุขมาสู่ทวยเทพ และเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งโลกทั้งสาม ขอสิทธิศักดิ์จงมีแด่พระองค์ ผู้มีพระบาทอันชาวโลกทั้งมวลพึงกราบไหว้ พระเป็นที่พึ่งของสัตตวนิกรทั้งหลายผู้มาพึ่งพำนักจิตเพื่อความหลุดพ้น ขอชัยจงมีแด่พระองค์ผู้ทรงพัสตราภรณ์คือรัศมีแห่งสูรยะ ผู้ขับไล่ความมืดความวุ่นวายให้สิ้นไป โอ้ พระแม่เจ้ากาลี พระเทวีผู้ทรงสายประคำคือกะโหลกมนุษย์ และทรงประดับพระเศียรด้วยกระดูกแห่งสรีระ ขออนัตชัยจงมีแด่องค์พระศิวา (มเหสีของพระศิวะ หมายถึงพระอุมา ทุรคา กาลี จัณฑี เคารี และอื่น ๆ) ขอทรงมีพระเกียรติยิ่งยืนนาน ขอพระองค์ทรงพอพระทัยในการสังเวยศีรษะของข้า และทรงอวยพระพรให้พระราชาศูทรกะมีชนมายุยิ่งยืนนานเถิด"

หลังจากการกล่าวถ้อยคำดังนี้แล้ว วีรวรก็ตัดศีรษะของตนให้ขาดออกโดยฟันด้วยดาบเพียงฉับเดียว

พระราชาศูทรกะผู้เป็นสักขีในเหตุการณ์ทั้งหมด จากการแอบดูในที่ซ่อนของพระองค์ ทรงประหลาดพระทัย และรู้สึกงุนงงอย่างยิ่งจากภาพที่ได้เห็น ทรงเสียพระทัยยิ่งนัก ตรัสแก่พระองค์เองว่า "ชายผู้มีค่ายิ่งคนนี้พร้อมด้วยครอบครัวของเขาได้ประกอบกรรมอันยากยิ่งเ้พื่อช่วยเหลือเรา กรรมอันนี้เป็นที่ที่เหลือเชื่อ ยากที่ใคร ๆ ในแผ่นดินโลกจะทำได้อย่างนี้ และเขากระทำเพื่อเราโดยไม่มุ่งหวังการตอบแทนสักนิด ถ้าเรามิได้รู้ถึงบุญคุณของเขา ความเป็นราชันยะของเราจะมีคุณค่าอะไร เราก็คงจะไม่แตกต่างไปจากสัตว์ตัวหนึ่งโดยแท้"

ดำริฉะนี้แลพระวีรราชาก็ชักพระแสงดาบออกจากฝัก เสด็จเข้าไปหาพระเทวี และกล่าวอ้อนวอนด้วยความนอบน้อมว่า "ข้าแต่พระแม่เจ้า ขอได้โปรดข้าด้วยเถิด โปรดประทานพรแก่ข้า ขอให้พราหมณ์ชื่อ วีรวร ผู้นี้ซึ่งมีพฤติกรรมเช่นเดียวกับชื่อของเขา ผู้เสียสละแม้ชีวิตเพื่อความอยู่รอดของข้า ขอให้เขาและครอบครัวจงกลับฟื้นคืนชีวิตขึ้นมาเถิด"

เมื่อกล่าวกถาดังนี้แล้ว พระราชาเตรียมจะเชือดพระศอด้วยดาบอันคมกล้า ทันใดนั้น ก็มีเสียงลอยมาในอากาศว่า "ช้าก่อนราชะ ข้าพอใจในพลีของท่านแล้ว เอาเถอะ ข้าจะให้พราหมณ์วีรวรกลับฟื้นคืนชีวิตขึ้นมาใหม่พร้อมด้วยภรรยาและบุตรของเขา"

เมื่อได้กล่าวประกาศิตแล้วเสียงสวรรค์ก็หายไป ทันใดวีรวรก็คืนชีพขึ้นมาพร้อมด้วยบุตรชาย บุตรสาว และภรรยาของเขา พอเห็นคนเหล่านี้ฟื้นขึ้นมา พระราชาก็รีบวิ่งเข้าหาที่ซ่อนเร้น กำบังมิให้ใครเห็น ทรงจ้องดูภาพของคนเหล่านั้นด้วยความอัศจรรย์ใจ และมีอัสสุชลเปี่ยมปริ่มด้วยความยินดีเป็นล้นพ้น

ฝ่ายวีรวรเมื่อได้มีชีวิตอีกครั้งหนึ่ง มีความรู้สึกเหมือนคนตื่นจากหลับแลไปเห็นบุตรและภรรยาต่างก็ยังมีชีวิตอยู่ ก็สับสนในใจไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้น จึงถามบุตรและภรรยาว่า "พวกเจ้าถูกไฟเผาไหม้จนเป็นเถ้าถ่าน แล้วกลับฟื้นขึ้นมาอีก เป็นไปได้อย่างไร ข้าก็เหมือนกัน จำได้ว่าข้าตัดหัวตัวเองไปแล้วหลังจากที่เผาศพพวกเจ้า แล้วนี่ข้ากลับมีชีวิตขึ้นมาอีก นี่จะเป็นมายาที่หลอกตาข้าหรือไร หรือว่าพระแม่เจ้าโปรดให้เรารอดจากตายด้วยความกรุณาของพระองค์ ช่างน่าอัศจรรย์เสียจริง ๆ"

เมื่อได้ฟังดังนี้ภรรรยาและบุตรจึงกล่าวว่า "ที่เราได้กลับมามีชีวิตอีกครั้งนี้ คงจะเป็นด้วยอำนาจของพระเทวีบันดาลให้เป็นไประหว่างที่เราหมดสตินั่นเอง"

วีรวรใคร่ครวญดูว่าเรื่องคงจะเป็นไปอย่างที่คนเหล่านั้นพูด มิได้มีข้อสงสัยอีกต่อไป จึงกระทำการบูชาต่อองค์พระจัณฑี แล้วพาครอบครัวกลับไปบ้านมีความยินดีว่าตนได้ปฏิบัติภารกิจเสร็จไปแล้วตามปรารถนาทุกประการ และหลังจากที่พาบุตรภรรยากลับไปบ้านแล้วก็กลับมายืนยามหน้าประตูวัง อันเป็นหน้าที่ประจำของตนในราตรีนั้นนั่นเอง ส่วนพระราชาศูทรกะผู้แลเห็นเหตุการณ์โดยตลอดก็ออกจากที่ซ่อนเสด็จกลับสู่วังและขึ้นไปที่ยอดพระมนเทียร และตะโกนลงมาว่า "ใครอยู่หน้าประตูนั่น" วีรวรได้ยินก็กล่าวด้วยเสียงอันดังว่า "ข้าพระบาทอยู่ที่นี่พระเจ้าข้า โอ ราชะ ตามที่ทรงมีบัญชาให้ข้าพระบาทไปสืบเรื่องหญิงผู้นั้น แต่นางได้อันตรธานไปต่อหน้าต่อตาเมื่อข้าพระบาทแลเห็นนาง ราวกับว่านางคือรากษสี (นางรากษส หรือนางอสูรประเภทหนึ่ง) ตนหนึ่ง หาใช่เป็นคนธรรมดาไม่"

พระราชาได้ฟังคำตอบของวีรวรก็ทรงประหลาดพระทัยมาก เพราะพระองค์เป็นบุคคลที่รู้เห็นเหตุการณ์โดยตลอด ทรงรำพึงในพระทัยว่า "จริงแท้ทีเดียวบุคคลผู้ประเสริฐ ล้วนเป็นผู้ที่รู้จักตนเองและควบคุมจิตใจได้อย่างลึกซึ้ง เหมือนทะเลอันกว้างใหญ่และลึกสุดหยั่ง เพราะเมื่อเขาประกอบกรณียกิจอันหาใครเปรียบมิได้นั้น แทนที่เขาจะโอ้อวดตนเอง กลับนิ่งเงียบไม่กล่าวอะไรเลย" เมื่อทรงรำพึงดังนี้แล้ว พระราชาก็เสด็จลงมาจากยอดมนเทียรกลับคืนสู่ห้องบรรทมและทรงพักผ่อนตลอดคืน

ในตอนเช้าวีวรถูกตามมาเฝ้าต่อหน้าประชุมชน พระราชาผู้ทรงมีพระทัยอันเปี่ยมไปด้วยความยินดีได้ตรัสแก่ที่ประชุมมนตรีถึงเรื่องที่เกิดขึ้นในเวลากลางคืนโดยตลอด ทำให้ทุกคนในท้องพระโรงตื่นเต้นกันมาก ครั้นแล้วพระราชาได้ประทานของขวัญอันล้ำค่าแก่วีรวรเพื่อเป็นเครื่องตอบแทนน้ำใจอันยิ่งใหญ่ คือทรงยกดินแดนเว่นแคว้นลาฏะและกรรณาฏะให้วีวรปกครอง หลังจากนั้นพระราชาสองพระองค์คือ พระเจ้าวีรวรและพระเจ้าศูทรกะ ผู้มีอานุภาพเสมอกันก็ปกครองดินแดนของตนด้วยความสงบสุขสืบมา

เมื่อเวตาลเล่านิทานอันพิสดารสุดขีดจบลง ก็กล่าวแก่พระราชาตริวิกรมเสนว่า "โอ นฤบดี ในเรื่องที่ข้าเล่ามานี้ พระองค์ทรงเห็นว่าใครเป็นผู้ที่กล้าหาญที่สุดในจำนวนคนเหล่านั้น ถ้าพระองค์ทรงทราบและไม่พูด คำสาปที่ข้าเคยกล่าวมาแล้วแต่ต้นก็จะประสบแก่พระองค์โดยแท้"

พระราชาได้ฟังถ้อยคำของเวตาลก็ตรัสว่า "พระราชาศูทรกะนั่นแหละ เป็นผู้ที่กล้าหาญที่สุดในบรรดาคนทั้งหลาย"

เวตาลได้ฟังก็แย้งว่า "คนที่กล้าหาญที่สุดมิใช่วีรวรหรอกหรือ เพราะเขาได้ทำวีรกรรมที่ยากจะหาใครเสมอเหมือนในโลกนี้ และมิใช่ภรรยาของเขาดอกหรือที่กล้าหาญกว่า เพราะเป็นแม่ที่ต้องทนเห็นลูกชายต้องถูกสังเวยไปต่อหน้าต่อตา และมิใช่ลูกชายคือสัตตววรหรอกหรือ แม้จะเป็นเพียงเด็กแต่ก็กล้าพลีชีพของตนเพื่อพระราชาและบิดาของตน นี่ไม่เรียกว่าวีรกรรมอันยอดยิ่งดอกหรือไร ไฉนพระองค์จึงตรัสว่าพระราชาศูทรกะเป็นผู้กล้าหาญยิ่งกว่าคนเหล่านั้นเล่า"

เมื่อได้ยินเวตาลกล่าวดังนั้น พระราชาตริวิกรมเสนก็อธิบายว่า "เจ้าอย่าพูดอย่างนั้นเลย ก็วีรวรนั้นเป็นคนตระกูลสูง จะอยู่ในครอบครัวใดก็ตาม ว่าตามจริงเขาต้องเป็นหัวหน้าที่มีความรับผิดขอบ รวมทั้งลูกและเมียของเขาก็เช่นเดียวกัน ทุกคนถือเป็นหน้าที่อยู่แล้วที่จะต้องสละขีวิตเพื่อคุ้มครองพระราชาของตน ในกรณีที่เกิดขึ้นนี้ นอกจากวีรวรจะทำตามหน้าที่ผูกพันกับพระราชาแล้ว นางผู้เป็นภรรยานั้นเล่าก็เป็นหญิงประเสริฐที่เคารพรักสามียิ่งชีวิต หล่อนทำไปเพราะถือเป็นหน้าที่ว่าภรรยาจะต้องดำเนินรอยตามสามีด้วยใจภักดิ์ ส่วนสัตตววรผู้เป็นลูกนั้นเล่าก็เป็นเช่นเดียวกับพ่อและแม่ของตน ย่อมทำตามพ่อแม่ด้วยความรักและความผูกพันโดยแนบแน่นเหมือนเส้นด้ายที่ตีขึ้นมาจากฝ้ายฉะนั้น แต่พระราชาศูทรกะเป็นเยี่ยมเหนือกว่าคนเหล่านั้นทุกคน เพราะพระองค์เป็นผู้พร้อมที่จะพลีชีวิตเพื่อคนรับใช้ของพระองค์ เป็นการเสียสละอย่างกล้าหาญที่พระเจ้าแผ่นดินไม่มีความจำเป็นจะต้องทำเช่นนั้นเลย"

เมื่อเวตาลได้ยินคำอธิบายจากพระโอษฐ์ของพระราชาเช่นนั้น ก็ผละจากอังสาของพระราชา หายแวบไปทันทีโดยไม่มีใครเห็น และกลับคืนไปสู่ที่เดิมด้วยอิทธิฤทธิ์ของตน ทำให้พระราชาต้องเสด็จกลับทางเดิม เพื่ือไปนำตัวเวตาลกลับมาใหม่ 

เรื่องที่ 3 นกแก้วชื่อ วิทัคธจูฑามณี กับนกขุนทองชื่อ โสมิกา

เวตาลถูกจับครั้งที่ 3 และได้เล่านิทานให้แก่พระราชาฟังในระหว่างการเดินทาง มีเนื้อหา ดังนี้

พระวีรกษัตริย์ตริวิกรมเสนเสด็จกลับไปที่ต้นอโศกอีกครั้งหนึ่งเพื่อจับตัวเวตาลเอามา ณ ที่นั้นได้แลเห็นซากศพที่มันสิงอยู่ห้องหัวบนกิ่งอโศก จึงปีนขึ้นไปจับตัวมันพาดไหล่ แล้วเสด็จกลับไปตามทางเดิม ระหว่างทางอันเงียบสงัด เวตาลได้ถือโอกาสกล่าวขึ้นว่า "ข้าแต่วิศามบดี" ข้ารู้สึกประหลาดใจมากที่แลเห็นพระองค์สู้ทนความลำบากเสด็จกลับไปมากลับมาหลายเที่ยว เพื่อจะทำธุระให้แก่คนอื่นโดยใช่เหตุ ข้าจึงคิดว่าจะเล่านิทานสนุก ๆ สักเรื่องหนึ่งถวาย เพื่อเป็นเครื่องปลอบพระทัย ขอทรงฟังเถิด"

แต่ปางบรรพ์มีพระนครอันใหญ่และสวยงามชื่อปาฏลีบุตร มีพระมหากษัตริย์องค์หนึ่ง ทรงนามว่าพระเจ้าวิกรมเกศริน ซึ่งทรงมีคุณธรรมอันไพศาล พอ ๆ กับท้องพระคลังของพระองค์ซึ่งอุดมด้วยมณีรัตนนับไม่ถ้วน พระองค์มีนกแก้วตัวหนึ่ง ซึ่งมีความเฉลียวฉลาดอย่างอัศจรรย์ราวกับเทพยดาเข้าดลใจแลมีความชำนิชำนาญในศาสตร์ทั้งปวง เหตุที่มันต้องมาเกิดเป็นนกในชาตินี้ก็เพราะมันถูกสาปด้วยเรื่องใดเรื่องหนึ่ง นกแก้วตัวนี้มีชื่อว่าวิทัคธจูฑามณี มันได้ทูลแนะนำพระองค์ให้อภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงผู้ทรงศักดิ์แห่งแคว้นมคธชื่อจันทรประภา เจ้าหญิงเองก็ทรงเลี้ยงนกไว้เป็นคู่พระทัยตัวหนึ่งเป็นนกขุนทองตัวเมียมีชื่อว่า โสมิกา เป็นนกที่เจนจบในวิชาการต่าง ๆ ทั้งนกแก้วและนกขุนทองถูกเลี้ยงไว้ในกรงทองกรงเดียวกันราวกับเป็นคู่ผัวเมียฉะนั้น

วันหนึ่งนกแก้วเกิดความกำหนัดในนางนกโสมิกาจึงกล่าวแก่นางว่า "มาแต่งงานกับข้าเถิด เจ้ารูปงาม ไหน ๆ เราก็หลับนอนและได้รับการเลี้ยงดูในกรงเดียวกันแล้ว"

นางนกขุนทองได้ฟังก็ตอบว่า "อย่าเลย ข้าไม่เคยพิศวาสในผู้ชายหน้าไหนทั้งนั้น เพราะขึ้นชื่อว่าผู้ชายแล้วล้วนแต่ชั่วช้าและใจร้าย" ทั้งสองต่างก็โต้เถียงกันอย่างไม่ลดละ ในที่สุดเกิดท้าทายและพนันกันว่า ถ้านกแก้วชนะจะได้นกขุนทองเป็นเมีย และถ้านางนกขุนทองชนะ นกแก้วจะต้องกลายเป็นทาสของนางตลอดไป เมื่อตกลงกันดังนี้แล้วก็พากันไปเฝ้าเจ้าชาย ทูลเรื่องให้ฟังและขอให้ตัดสินอย่างยุติธรรม ขณะนั้นเจ้าชายประทับอยู่ในท้องพระโรงธารกำนัลของพระราชบิดา เมื่อได้ฟังคดีวิวาทของนกทั้งสอง จึงตรัสแก่นางนกโสมิกาว่า "เจ้าจงเล่าให้ข้าฟังสิว่า เหตุใดจึงว่าผู้ชายเป็นคนอกตัญญู"

นางนกได้ฟังดังนั้นก็กล่าวว่า "ขอทรงฟังเถิด" แล้วก็ลงมือเล่าเรื่องประกอบข้อกล่าวหาของตนดังต่อไปนี้

(เรื่องแทรกของนางนกโสมิกา)
พระเจ้าข้า ในสมัยโบราณมีพระนครชื่อ กามันทกี ในเมืองนี้มีพ่อค้าคนหนึ่งร่ำรวยมาก มีชื่อว่า อรรถทัตต์ พ่อค้ามีลูกชายอยู่เพียงคนเดียวชื่อ ธนทัตต์ เมื่อไวศยะผู้เศรษฐีถึงแก่กรรมลง ลูกขายก็ใช้จ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่าย ผลาญทรัพย์ที่มีอยู่แม้มากมายมหาศาลให้หดเหี้ยนไป ธนทัตต์คบเพื่อนที่ล้วนแต่ชั่วช้าเลวทราม ซึ่งคนชั่วเหล่านี้ได้ชักจูงให้เขาประพฤติชั่วต่าง ๆ มีการเล่นการพนันและอื่น ๆ ต่อมามิช้าทรัพย์สมบัติก็มลายไปหมด ชายหนุ่มมีความละอายที่กลายเป็นคนยากจนเพราะรักษาสมบัติของตัวเองไม่ได้ จึงละถิ่นฐานบ้านเรือนออกตุหรัดตุเหร่ไปในดินแดนต่าง ๆ

ในระหว่างทางที่ผ่านไป ชายหนุ่มมาถึงเมืองแห่งหนึ่ง ชื่อจันทนปุระ และบังเกิดความหิวโหยเหนื่อยล้าเป็นอย่างยิ่ง จึงเข้าไปในบ้านนายวาณิชผู้หนึ่งเพื่อขออาหารกิน และราวกับโชคบันดาลให้เป็นไป เผอิญพ่อค้าผู้นั้นไม่มีบุตรชายและเห็นธนทัตต์เป็นชายหนุ่มรูปงามท่าทางเป็นผู้ดีมีสกุล ก็บังเกิดความสนใจ จึงไต่ถามเรื่องราวความเป็นมาของเขา เมื่อได้ทราบว่าเป็นไวศยะเหมือนกับตน นายวาณิชผู้เฒ่าก็รู้สึกยินดีจึงรับชายหนุ่มไว้เป็นบุตรบุญธรรม และยกธิดาชื่อรัตนวลีให้เป็นภรรยาอีกด้วย ธนทัตต์ก็อยู่บ้านพ่อตามีความสุขสำราญตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

กาลเวลาผ่านไป ธนทัตต์ผู้อยู่บ้านพ่อตาอย่างสุขสบาย มีเงินจับจ่ายใช้สอยไม่ขาดมือก็เกิดความดิ้นรนขึ้นมาอีก คิดจะกลับบ้านเดิมเพื่อจะเอาทรัพย์ไปเล่นการพนันให้สนุกตื่นเต้นตามนิสัยสันดานเดิมของตนซึ่งอดไม่ได้ จึงขออนุญาตพ่อตาเดินทางกลับบ้านเดิมและพาภรรยาไปด้วย นายวาณิชเฒ่ามีบุตรสาวเพียงคนเดียวก็มีความอาลัยไม่อยากจะให้ไป แต่เมื่อขัดไม่ได้ก็จำใจต้องให้ตามสามีไป นางแต่งเครื่องถนิมพิมพาภรณ์ไปเต็มที่ มีพี่เลี้ยงเฒ่าติดตามไปเป็นเพื่อน ทั้งสามคนก็ออกเดินทางไป หลังจากที่เดินมาพักใหญ่ถึงป่าเปลี่ยว ซึ่งน่าจะเป็นที่อยู่ของพวกโจร ขายหนุ่มจึงกล่าวแก่นางผู้ภรรยาว่า เพื่อความปลอดภัยขอให้นางถอดเครื่องประดับมามอบให้ตนดูแล เพราะถิ่นนี้เป็นถิ่นโจร เมื่อได้รัตนาภรณ์อันมีค่ามาแล้ว ชายชั่วก็เก็บเข้ารวมกับห่อสมบัติของตนอนิจจาเอ๋ย ขอให้ตรองดูเดิดว่าเจ้าผัวจำแลงนี้มันชั่วชาติเพียงไร มันติดการพนันจนโงหัวไม่ขึ้น คนอย่างนี้ใจแข็งและคมกริบเหมือนดาบ

เจ้าโจรใจฉกาจเมื่อหลอกได้ทรัพย์ของภรรยาแล้ว ก็คิดจะฆ่านางเสียเพื่อปิดปาก จึงผลักนางกับแม่เฒ่าลงไปอยู่ในเหวแล้วรีบเดินทางต่อไป หญิงชรานั้นตายในเหวแต่นางบุตรสาวเศรษฐีหาได้ตายไม่ เพราะเมื่อตกลงไปในเหวนั้น เผอิญนางตกลงไปบนซุ้มไม้เลื้อยที่เกี่ยวพันกันราวกับลงไปอยู่ในตาข่าย นางจึงรอดชีวิตไป นางค่อยไต่เชิงเถาวัลย์ขึ้นมาจนถึงปากเหว มีความรู้สึกเหนื่อยอ่อนแทบจะขาดใจ นางค่อยลัดเลามาจนถึงทางที่นางผ่านมา และล้มลุกคุกคลาน โซซัดโซเซมาตามทางจนในที่สุดกลับมาถึงบ้านโดยปลอดภัย แต่ร่างกายของนางฟกช้ำดำเขียวเจ็บระบมไปหมด เมื่อนางกลับมาถึงบ้าน บิดามารดาของนางตกใจมาก ไต่ถามสาเหตุด้วยความสงสัย นางผู้มีคุณธรรรมจึงกลับเรื่องเสียใหม่โดยกล่าวแก่บิดามารดาว่า

"พวกเราถูกโจรปล้นระหว่างทาง สามีของลูกถูกโจรมันจับมัดลากเอาตัวไป ยังไม่รู้ชะตากรรมเลย แม่เฒ่าถูกฆ่าตาย แต่ลูกรอดชีวิตมาได้เพราะเมื่อถูกเหวี่ยงลงเหวนั้น เผอิญตกไปค้างอยู่บนซุ้มไม้เลื้อยจึงไต่ขึ้นมาได้ ถึงปากเหวก็สลบเหมือด แต่นักเดินทางกลุ่มหนึ่งช่วยเอาไว้ โชคยังดีอยู่จึงกลับมาถึงบ้านได้"

เมื่อนางรัตนาวลีเล่าเรื่องจบ เศรษฐีผู้เป็นบิดาและมารดาก็กล่าวปลอบโยนนางต่าง ๆ มิให้เสียใจในเรื่องที่เกิดขึ้น เพราะการที่นางเอาชีวติรอดมาได้ก็นับว่าโชคช่วยอย่างมากแล้ว นางอยู่ในบ้านพ่อแม่เรื่อยมา แต่ไม่มีความสุขนักเพราะเฝ้าแต่คิดถึงสามีอันเป็นที่รักไม่เว้นวาย

ฝ่ายธนทัตต์ผู้สามีซึ่งเดินทางกลับไปเมืองที่ตนเคยอาศัยอยู่พร้อมด้วยทรัพย์สินของภรรยานั้น ต่อมามิช้าเขาก็ถลุงเงินจนหมดเกลี้ยงด้วยการเล่นการพนันอย่างหามรุ่งหามค่ำ และปรนเปรอตัวเองด้วยของกินชนิดเลิศและสุรานารีไม่เว้นแต่ละวัน เมื่อเงินหมดก็คิดหาทางที่จะแสวงหาอีก โดยมีความคิดว่า "เราจะกลับไปบ้านพ่อตา อ้อนวอนขอเงินเขามาสัก้อนหนึ่งเอาไปทำทุน เราจะบอกแก่เขาว่า ลูกสาวของเขายังพักอยู่ที่บ้านของเรา มิได้เอามาด้วย" เมื่อทำกำหนดแผนการเรียบร้อยแล้ว ชายหนุ่มก็เดินทางไปที่บ้านพ่อตา พอเข้าประตูบ้านภรรยาของเขาแลเห็นแต่ไกลก็ดีใจ วิ่งมาต้อนรับและทรุดตัวลงคารวะอย่างนอบน้อม ทั้งที่รู้อยู่ว่าเขาเป็นโจรใจอำมหิต ความจริงก็เป็นดังนี้แหละ ผู้หญิงดีนั้นแม้ผัวจะชั่วชาติสักปานใด นางก็ไม่เคยเปลี่ยนแปลงความรู้สึกเคารพรัก ที่นางมีต่อเขา เมื่อเห็นนางวิ่งเข้ามหาโดยไม่คาดฝัน ชายหนุ่มก็ตกใจแทบสิ้นสติ แต่นางก็กล่าวปลอบโยนเขาให้คลายใจ โดยกล่าววว่า นางได้สร้างเรื่องโกหกแก่บิดมารดาของนางว่า นางถูกโจรปล้นจับเอาตัวสามีไปและผลักนางตกเหว แต่นางเอาชีวิตรอดมาได้และยังไม่รู้ชะตากรรมของสามีว่าเป็นอย่างไร เมื่อชายหนุ่มได้ฟังก็หายวิตก เข้าไปสู่บ้านพ่อตาแม่ยายของตนพร้อมด้วยภรรยา ข้างพ่อตาแม่ยายแลเห็นเข้า ก็ดีอกดีใจที่ลูกเขยกลับมาได้ จึงเรียกประชุมญาติพี่น้องและเพื่อนฝูงจัดการฉลองอย่างใหญ่โตเป็นการรับขวัญลูกเขย และประกาศว่า "ช่างน่ายินดีนี่กระไรที่ลูกเขยของเราถูกโจรจับไปแต่หนีรอดมาได้ในที่สุด"

หลังจากนั้นธนทัตต์ก็อาศัยอยู่กับนางรัตนาวลีในบ้านพ่อตาแม่ยายด้วยความสุข มีเงินทองใช้อย่างอุดมสมบูรณ์ แต่เจ้าประคุณเอ๋ย คืนหนึ่งอ้ายคนชั่วเห็นได้โอกาสก็แอบฆ่าภรรยาของตนตอนที่นางหลับอยู่ กวาดเอาทรัพย์สินและของมีค่าต่าง ๆ หนีกลับไปสู่ถิ่นเดิมของตน มีชีวิตอยู่อย่างหลบ ๆ ซ่อน ๆ ไม่มีใครได้ข่าวคราวอีกนับแต่นั้น

"ฉะนั้นเราอาจจะกล่าวได้อย่างเต็มปากว่า ผู้ชายมันก็ชั่วเหมือนกันทั้งโลกนั่นแหละ" นางนกขุนทองสรุปทิ้งท้ายอย่างแค้นเคือง

พระราชาจึงหันมาตรัสแก่นกแก้วว่า "คราวนี้ถึงทีเจ้าแล้วละ มีอะไรจะเถียงไหม"

นกแก้วได้ยินก็กล่าวว่า "โอ เทวะ ขึ้นขื่อว่าผู้หญิงแล้ว ล้วนมีจริตเหลือที่จะทนทาน เป็นคนทุศีล และชั่วช้าสามานย์เหมือนกันหมด ขอได้โปรดสดับเรื่องราวที่ข้าพระบาทจะเล่าถวายดังต่อไปนี้"

(เรื่องแทรกของนกแก้ว วิทัคธจูฑามณี)
มีนครหนึ่งชื่อหรรษวดี ในนครนี้มีไวศยะที่มีชื่อเสียงเลื่องลือคนหนึ่งมีชื่อว่า ธรรมทัตต์ มีทรัพย์หลายสิบโกฏิ พ่อค้าผู้นี้มีธิดาคนหนึ่งชื่อ วสุทัตตา มีความงามหาที่เปรียบมิได้ เป็นที่รักของบิดาปานชีวิต ต่อมาเศรษฐีจัดการแต่งนางกับพ่อค้าหนุ่มผู้มั่งคั่งชื่อ สมุทรทัตต์ ซึ่งมีฐานะเท่าเทียมกันทั้งทรัพย์สมบัติและรูปสมบัติอันงามพร้อม เป็นที่ต้องตาของสตรีทั้งหลายซึ่งทอดสายตาให้ด้วยความหลงใหลราวกับนกจโกระที่คลั่งไคล้ต่อแสงจันทร์ฉะนั้น ไวศยะหนุ่มผู้นี้มาจากเมืองตามรลิปติ ซึ่งเป็นแหล่งของคนดีมีเกียรติยศทั้งหลาย

ครั้งหนึ่งนางวสุทัตตตาพักอยู่ที่บ้านพ่อของนางในขณะที่สามีกลับไปทำธุรกิจในแว่นแคว้นของตน นางแลเห็นชายหนุ่มผู้หนึ่งเดินทางมาแต่ระยะไกล ชายผู้นั้นมีความงดงามมาก บังเกิดความพิศวาสหลงใหลด้วยอำนาจของมาร (ผู้เฒ่า เป็นฉายานามของกามเทพ) จึงแอบเชื้อเชิญเขาอย่างลับ ๆ และทำเขาให้เป็นชู้ของนาง หลังจากนั้นนางก็แอบมาพบเขาทุก ๆ คืน มีความคลั่งไคล้แต่ชายชู้ผู้เดียวโดยมิเสื่อมคลาย

ครั้นแล้ววันหนึ่ง สามีของนางก็กลับมาจากเมืองของเขา การปรากฏตัวของเขายังความปลาบปลื้มแก่บิดามารดาของนางอย่างยิ่ง ต่างก็ต้อนรับเขาอย่างกุลีกุจอ ในวันแห่งความรื่นรมย์นั้น แทนที่นางจะสดชื่นรื่นเริง กลับไม่พูดอะไรกับสามีเลย และเมื่ออยู่สองต่อสองกับนาง นางก็แกล้งทำเป็นหลับ ไม่ไยดีต่อสามี ในใจนางมีแต่ความโหยไห้คิดถึงแต่หนุ่มชายชู้เท่านั้น ส่วนสามีของนางมึนเมาไม่ได้สติเพราะเสพสุรา ประกอบกับความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าเพราะการเดินทางมาตลอดวันทำให้เขาม่อยหลับไป

ขณะนั้นมีโจรคนหนึ่งแอบเจาะช่องกำแพงเล็ดลอดเข้ามาในบ้าน ประจวบกับนางวสุทัตตาลุกขึ้นจากเตียง แต่งตัวด้วยเสื้อผ้าอันงดงาม ประดับดัวยรัตนาภรณ์แพรวพราวระยับเดินออกมาจากห้องนอนโดยไม่ทันเห็นโจร มุ่งหน้าออกไปยังสถานที่ที่นางนัดไว้กับชายชู้ เมื่อโจรแลเห็นนางรีบลุกลี้ลุกลนออกไปก็สงสัย กล่าวแก่ตนเองว่า "นางผู้นี้ออกไปจากห้องในเวลาดึกดื่นเที่ยงคืนแต่งตัวงดงามด้วยปิลันธนาภรณ์อันมีค่าซึ่งเราตั้งใจจะเข้ามาขโมยพอดี ดีละเราจะสะกดรอยดูว่านางจะไปไหน" เมื่อโจรตั้งใจดังนี้แล้วก็แอบออกไปจากห้องติดตามนางวสุทัตตาไปโดยมิให้คลาดสายตา และนางไม่ทันสังเกต

นางวสุทัตตาถือช่อดอกไม้และของขวัญอันมีค่าเดินออกจากบ้านไป มีโจรติดตามไปอย่างลับ ๆ เข้าไปสู่อุทยานแห่งหนึ่งนอกพระนครออกไปไม่ไกลนัก ที่อุทยานั้นเอง นางได้เห็นชู้รักของนางถูกแขวนคอห้อยอยู่กับกิ่งไม้ด้วยเชือกเส้นหนึ่ง เนื่องจากราชบุรุษ(ตำรวจ) มาพบเขาด้อม ๆ มอง ๆ อยู่ในสวนในเวลากลางคืน จึงจับเขาแขวนคอเป็นการลงทัณฑ์เพราะคิดว่าเขาเป็นขโมย นางซวนกายผงะหงายด้วยความตกใจแทบสิ้นสติ ร้องออกมาว่า "ฉิบหายแล้วเรา" พร้อมกับทรุดกายลงนั่งกับพื้นดินร่ำไห้ด้วยความรักและเสียดาย

เมื่อค่อยสร่างโศกได้สติขึ้นนางจึงปีนขึ้นไปบนกิ่งไม้ แก้เชือกออกปล่อยร่างชู้รักลงไปบนพื้น แล้วลงมายกศพของเขาขึ้นวางในท่านั่งแล้วลูบไล้ร่างกายของเขาด้วยวิเลปนะของหอม และประดับด้วยบุปผามาลัยอันวิจิตร และถึงแม้ร่างของเขาจะปราศจากชีวิตแล้ว นางก็ยังโอบกอดเขาไว้ด้วยความเสน่หา ร่ำไห้เหมือนใจจะขาด และในความโศกรันทดนั้นเอง นางจับหน้าของเขาให้เงยขึ้นและประจงจูบอย่างทะนุถนอม ขณะนั้นเวตาลเข้าสิงศพอยู่ เห็นนางยื่นหน้าเข้ามาใกล้ก็กัดจมูกนางในทันที นางวสุทัตตาตกใจรีบผละหนีไป แต่แล้วก็เกิดความงุนงงจับต้นชนปลายไม่ถูก จึงเดินกลับมาใหม่เพื่อจะดูให้แน่ว่าชู้รักของนางยังมีชีวิตอยู่หรือเปล่า ครั้นเห็นเวตาลละร่างไปแล้ว และร่างนั้นตายสนิทเคลื่อนไหวต่อไปอีกไม่ได้ นางก็ผละจากศพนั้นเดินทางกลับไปบ้าน ร้องไห้ด้วยความกลัวและอัปยศอดสู

ระหว่างนั้นโจรซึ่งแฝงกายแอบดูอยู่ ได้เห็นเหตุการณ์โดยตลอดก็กล่าวแก่ตัวเองว่า
"นางหญิงชั่วมาทำอะไรที่นี่ อนิจจา จิตใจของผู้หญิงนี้ช่างน่ากลัวและดำราวกับความมืดของบ่อน้ำลึกสุดหยั่งที่ใครตกลงไปแล้วไม่มีวันจะได้กลับขึ้นมาได้อีก เราสงสัยนักว่านางจะทำอย่างไรนับแต่นี้"

หลังจากรำพึงดังนี้แล้ว โจรก็แอบย่องตามนางกลับไปทางเดิมด้วยความพิศวงว่านางจะแก้สถานการณ์ด้วยวิธีใด

นางวสุทัตตากลับไปถึงบ้านก็ตรงเข้าไปในห้องนอน เห็นสามียังหลับอยู่ก็ทำตีอกชกหัวร้องไห้ร้องห่ม แผดเสียงว่า "ช่วยด้วย ช่วยด้วย ไอ้คนชาติชั่วผัวเลวทรามมันกัดจมกูข้าขาดแล้ว ข้าไม่ได้ทำความผิดอะไรแม้แต่สักนิด" ฝ่ายสามีของนางพร้อมด้วยพ่อตาและบรรดาคนใช้ได้ยินเสียงนางร้องตะโกนดังนั้น ต่างตกใจตื่นและวิ่งกรูกันมาด้วยท่าทางตื่นเต้น บิดานางวสุทัตตาแลเห็นลูกสาวของนางที่ถูกกัดมาใหม่ ๆ ก็ปักใจเชื่อว่าเป็นการกระทำของลูกเขยตน จึงให้บ่าวไพร่ช่วยกันจับตัวมัดและกล่าวหาว่าชายผู้เคราะห์ร้ายเป็นคนทำร้ายธิดาของตน ฝ่ายสมุทรทัตต์ถึงแม้จะถูกมัดและถูกกล่าวหาดังนั้นก็ยังคงนิ่งเฉยมิได้ตอบโต้แต่ประการใด ราวกับเป็นใบ้ พ่อตาและคนอื่น ๆ ต่างก็หันหลังให้แก่เขาด้วยความชิงชัง

เมื่อนายโจรได้เห็นเหตุการณ์เกิดขึ้นเช่นนั้นก็ค่อย ๆ เลี่ยงหลบไปเงียบ ๆ และเมื่อคืนแห่งความโกลาหลดังกล่าวได้ผ่านไปแล้ว ถึงเวลาเช้าบุตรไวศยะก็ถูกลากตัวไปเฝ้าพระราชาพร้อมด้วยนางผู้ภรรยาซึ่งมีจมูกโหว่เพราะถูกกัด เมื่อพระราชาได้ฟังเรื่องราวฟ้องร้องดังนั้น มิทันได้พิจารณาโดยรอบคอบก็สั่งให้เพชฌฆาตนำตัวบุตรพ่อค้าไปประหารในข้อหาว่า ทำร้ายภรรยาของตนให้พิการ ทั้งนี้โดยมิฟังข้อแก้ตัวใด ๆ เลย ขณะที่ชายหนุ่มถูกนำตัวไปยังตะแลงแกงเพื่อประหารชีวิต และกลองตีรัวเป็นสัญญาณนั้น ก็มีโจรผู้หนึ่งปรากฏตัวขึ้นและกล่าวแก่เจ้าหน้าที่ผู้เป็นราชบุรุษว่า "ท่านไม่ควรจะประหารชายผู้นี้เพราะเขามิได้กระทำผิดเลยสักนิด ข้าเป็นผู้รู้เห็นเหตุการณ์โดยตลอดแต่ผู้เดียว พาข้าไปเฝ้าพระราชาโดยเร็วเถิดเพื่อจะได้ทูลความจริงให้ทรงทราบ"

เมื่อได้ยินโจรเล่าวดังนั้น บรรดาราชบุรุษก็พาโจรไปเฝ้าพระเจ้าแผ่นดิน เมื่อได้รับราชานุญาตแล้ว โจรก็กราบทูลเรื่องราวให้ทรงทราบโดยตลอดตั้งแต่ต้น และกล่าวเสริมว่า "ถ้าพระองค์ไม่เชื่อข้าพระบาทก็โปรดทอดพระเนตรจมูกของผู้หญิงคนนี้ในปากของศพชายชู้ของนางเถิด"

พระราชาได้ฟังดังนั้นก็ส่งราชบุรุษไปดูสถานที่เกิดเหตุก็ได้ทราบความจริงจึงกลับคำพิพากษาให้งดโทษประหาร แต่สั่งให้เนรเทศหญิงชั่วไปให้พ้นแว่นแคว้น พร้อมกับตัดใบหูเสียงทั้งสองข้าง ยิ่งกว่านั้นยังโปรดให้ริบทรัพย์ของผู้เป็นบิดานางเสีย และสำหรับนายโจรนั้น พระราชาทรงโปรดปรานว่าเป็นคนเฉลียวฉลาดและกล้าหาญจึงตั้งให้เป็นหัวหน้าตุลาการของพระนคร

"ได้โปรดเกล้า ทรงเห็นหรือยังว่าผู้หญิงนั้นโดยธรรมชาติเป็นคนชั่วร้ายและเจ้าเล่ห์แสนกลเพียงใด" นกแก้วกล่าวสรุปในที่สุด

พอเล่าเรื่องจบลง นกแก้วก็พ้นจากคำสาปของพระอินทร์ กลายร่างเป็นคนธรรพ์รูปงามชื่อ จิตรรถ เหาะไปสู่สรวงสวรรค์ ขณะเดียวกันคำสาปของนางนกขุนทองก็เสื่อมลง นางนกโสมิกาก็กลายร่างเป็นนางเทพอัปสรชื่อ ติโลตตมา กลับคืนไปถวายการบำเรอท้าววัชรินทร์ในสวรรค์เช่นเดิม อย่างไรก็ดี กรณีพิพาทของนกทั้งสองก็ยังไม่ได้ตัดสินในท้องพระโรง
 
เมื่อเวตาลเล่าเรื่องจบลง ก็กล่าวแก่พระราชาว่า "ขอพระองค์โปรดทรงวินิจฉัยด้วยเถิดว่า ฝ่ายชายหรือฝ่ายหญิงพูดถูก ถ้าพระองค์ทราบแล้วมิแสดงความเห็น พระเศียรของพระองค์ก็จะต้องแตกเป็นเสี่ยง ๆ โดยพลัน"

ฝ่ายพระราชาเมื่อถูกเวตาลซึ่งห้อยอยู่บนบ่ากล่าวถ้อยคำดังนั้นก็ตรัสว่า "นางจอมมายาหญิงในเรื่องของนกแก้วนั่นแหละเป็นหญิงที่ชั่วช้าที่สุด เพราะว่าผู้ชายอาจจะหลงทำผิดได้ชั่วครั้งหนึ่งเท่านั้นเอง แต่ผู้หญิงนั้นว่าโดยความจริงเป็นคนชั่วในทุกโอกาส"

เมื่อพระเจ้าแผ่นดินตรัสดังนี้ เวตาลก็หลุดลอยหนีไปจากพระอังสาของพระองค์ กลับไปยังที่เดิม และพระราชาก็ต้องเสด็จย้อนไปทางเดิมเพื่อไปจับตัวเวตาลกลับมาใหม่

นางมันทารวดีกับพราหมณ์หนุ่ม 3 คน

เวตาลถูกจับครั้งที่ 2 และได้เล่านิทานให้แก่พระราชาฟังในระหว่างการเดินทาง มีเนื้อหา ดังนี้

บนฝั่งของแม่น้ำยมุนา ณ ที่แห่งนั้น เป็นเขตคามที่กำหนดไว้สำหรับพวกพราหมณ์โดยเฉพาะ มีชื่อว่าหมู่บ้านพรหมสถล ในหมู่บ้านนี้มีพราหมณ์ผู้หนึ่งอาศัยอยู่ มีชื่อว่า อัคนิสวามิน เป็นผู้ที่เจนจบในคัมภีร์พระเวททั้งปวง (คือคัมภีร์ไตรเวท ประกอบด้วยคัมภีร์ฤคเวท ยชุรเวท และสามเวท ต่อมาภายหลังได้เพิ่มเข้าไปอีกคัมภีร์หนึ่ง คืออถรรพเวท จึงเรียกว่า จตุรเวท) พราหมณ์ผู้นี้มีบุตรสาวแสนสวยผู้หนึ่งชื่อว่า มันทารวดี ความงามของนางล้ำเลิศหาที่เปรียบมิได้ราวกับเป็นผลงานที่พระพรหมทรงสรรค์สร้างขึ้น และเมื่อนางได้กำเนิดมาแล้วก็ดูเหมือนว่าท้าวธาดาเธอทรงสิ้นเยื่อใยในเทพอัปสรทั้งปวงโดยสิ้นเชิง เมื่อนางเจริญวัยเป็นสาวแรกรุ่นนั้นปรากฏว่ามีพราหมณ์หนุ่มสามคนเดินทางมาจากแคว้นกันยกุพชะ พราหมณ์เหล่านี้เป็นผู้แตกฉานในศาสตร์ทั้งปวงเท่าเทียมกัน และพราหมณ์แต่ละคนก็มุ่งมาสู่ขอมันทารวดีโฉมงามจากบิดาของนาง ต่างคนต่างก็สาบานว่าถ้านางแต่งงานกับคนอื่น ตนก็จะฆ่าตัวตาย แต่บิดาของนางก็มิได้ยกนางให้แก่ใคร เพราะเกรงว่าถ้ายกให้คนหนึ่ง อีกสองคนก็จะฆ่าตัวตายเสีย ดังนั้นนางจึงคงอยู่เป็นโสดเรื่อยมามิได้คิดแต่งงานกับใคร และพราหมณ์ทั้งสามก็ยังคงพักอยู่ที่นั่นเรื่อยมา ทั้งกลางวันและกลางคืนก็เฝ้าแต่มองดูพักตร์ของนางอันงามเปล่งปลั่งราวกับสมบูรณจันทร์ (พระจันทร์เต็มดวง) ต่างก็ไม่ได้กินไม่ได้นอน ทำตนราวกับนกจโกระ (นกเขาไฟ ตามนิยายโบราณกล่าวว่า "ยังชีพอยู่ได้ด้วยแสงจันทร์") ซึ่งอาศัยแสงจันทร์เป็นอาหารฉะนั้น

ต่อมานางมันทารวดีล้มป่วยเป็นไข้อย่างรุนแรง นางมิอาจจะทนทานต่อพิษไข้ได้ก็ถึงแก่ความตาย พราหมณ์หนุ่มทั้งสามมีความเศร้าโศกอย่างยิ่ง นำร่างอันเป็นศพของนางไปสู่ป่าช้า สวดให้แก่นางด้วยความรักและเผาศพนางที่จิตกาธาน พราหมณ์หนุ่มคนหนึ่งสร้างกระท่อมน้อยขึ้นตรงที่ใกล้ เอาเถ้าถ่านอังคารของนางมาโปรยลงบนเตียงและนอนทับบนพื้น เขายังชีพไปวันหนึ่ง ๆ ด้วยการถือกะลาขออาหารกินตามมีตามเกิด พราหมณ์คนที่สองรวบรวมกระดูกของนางเอาไปทิ้งในแม่น้ำคงคาอันศักดิ์สิทธิ์ ส่วนพราหมณ์คนที่สามถือเพศเป็นโยคีท่องเที่ยวพเนจรไปยังดินแดนต่าง ๆ

โยคีเดินทางผ่านแว่นแคว้นต่าง ๆ เรื่อยมาจนถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่งชื่อวัชรโลก จึงเข้าไปภิกขาจารที่บ้านพราหมณ์ผู้หนึ่ง ท่านพราหมณ์ได้ต้อนรับเขาด้วยอัธยาศัยอันดียิ่ง เขาจึงนั่งบริโภคอาหารในบ้านพราหมณ์ผู้นั้น ขณะนั้นมีเสียงทารกร้องจ้าขึ้นมาและร้องติดต่อกันไม่หยุด ไม่มีใครจะห้ามให้หยุดได้ นางพราหมณีผู้เป็นมารดาบันดาลโทสะจึงจับทารกขึ้นมาแล้วโยนโครมลงไปในกองไฟ เด็กถูกไฟเผาจนกลายเป็นเถ้าถ่าน โยคีผู้นั่งกินอาหารอยู่เงียบ ๆ แลเห็นเหตุการณ์โดยตลอดก็ตกใจ รู้สึกสยดสยองจนขนหัวลุกชัน ร้องออกมาว่า "พุทโธ่ พุทโธ่เอ๋ย นี่ข้าเข้ามาในบ้านของพราหมณ์รากษสหรือนี่ ข้าไม่กินอะไรแล้ว เพราะการเสพอาหารในบ้านของพราหมณ์ปีศาจเช่นนี้เป็นบาปกรรมอย่างมหันต์ไม่ว่าจะเป็นอาหารชนิดใดก็ตาม"

ขณะเมื่อเขากล่าวดังนี้ พราหมณ์ผู้คฤหบดี (เจ้าของบ้าน) จึงพูดว่า
"อย่าตกอกตกใจไปเลย ท่านจงคอยดู ข้าจะชุบชีวิตเด็กคนนี้ขึ้นใหม่ โดยการร่ายมนตร์อันศักดิ์สิทธิ์ ดูสิ"

เมื่อกล่าวดังนี้แล้ว มหาพราหมณ์ก็เดินไปหยิบคัมภีร์มหาเวทอันศักดิ์สิทธิ์มาเปิดออกแล้วสวดมนตร์บทหนึ่ง ขณะที่สวดอยู่ก็เอาขี้เถ้าโปรยลงในกองไฟ พอสวดจบลง เด็กก็ฟื้นคืนชีวิตขึ้นมาใหม่ มีลักษณะและองคาพยพ (อวัยวะ) เหมือนเดิมทุกประการ พราหมณ์อาคันตุกะเห็นเหตุการณ์เป็นดังนั้นก็ค่อยคลายใจ ลงมือเสพอาหารต่อไปตามปกติ พราหมณ์เจ้าของบ้านเมื่อร่ายมนตร์เสร็จแล้ว ก็เอาคัมภีร์ไปเก็บไว้ที่เดิม ลงมือกินอาหารเสร็จแล้วก็เข้านอนในราตรี พราหมณ์อาคันตุกะก็กระทำเช่นเดียวกัน

พอเห็นพราหมณ์เจ้าของบ้านและภรรยานอนหลับแล้ว โยคีหนุ่มก็ลุกขึ้นค่อย ๆ ย่องไปที่เก็บคัมภีร์และหยิบเอาไป ตั้งใจจะเอาไปใช้ชุบชีวิตให้แก่นางมันทารวดีผู้เป็นที่รัก โยคีหนุ่มออกจากบ้านนั้นไปพร้อมด้วยคัมภีร์มหาเวท รีบเร่งเดินทางทั้งกลางวันและกลางคืน มุ่งกลับไปยังสุสานที่ตนและพรรคพวกช่วยกันเผาศพนางครั้งนั้น พอมาถึงป่าช้าก็แลเห็นพราหมณ์คนที่สองเดินทางกลับมาแล้วหลังจากที่เอาอัฐิของนางไปโยนแม่น้ำคงคาเพื่อให้นางไปสู่สุคติ และที่สุสานนั้นเช่นกันก็แลเห็นพราหมณ์ผู้เอาอังคารธาตุของนางมาโปรยนอน กำลังหลับอยู่ในกระท่อมที่สร้างไว้ จึงพูดกับพราหมณ์สหายให้รื้อกระท่อมทิ้งเสีย เพื่อตนจะได้ทำพิธีร่ายมนตร์มฤตสัญชีวินี (มนตร์ชุบคนตายให้ฟื้นคืนชีวิต พระศุกร์ได้มาจากพระศิวะและสืบต่อกันมาถึงคนรุ่นหลัง) ชุบชีวิตนางขึ้นใหม่ เมื่อรื้อกระท่อมทิ้งแล้วเถ้าถ่านของนางก็ตกเรี่ยรายอยู่บนพื้นดิน โยคีหนุ่มเมื่อเห็นทุกสิ่งพร้อมแล้วก็เปิดคัมภีร์ร่ายมนตร์อันศิกดิ์สิทธิ์พร้อมกับโปรยฝุ่นลงไปบนพื้นดินผสมผสานกับเถ้าถ่าน มินานพอจบมนตร์ดังกล่าวก็ปรากฎร่างนางมันทารวดีขึ้นในกองไฟ นางก้าวออกมาจากกองไฟพิธีด้วยรูปโฉมอันเปล่งปลั่งงดงามยิ่งกว่าเดิม ราวกับทองคำที่ถูกไฟชำระแล้วมีความสุกปลั่งผุดผ่องฉะนั้น

เมื่อพราหมณ์ทั้งสามแลเห็นนางมันทารวดีผู้งามเฉิดฉายราวเทพอัปสรปรากฏเฉพาะหน้า ต่างคนต่างก็แทบจะคลั่งตายเพราะความรัก และต่างก็ทุ่มเถียงแก่งแย่งกรรมสิทธิ์ในตัวนางด้วยกัน ไม่มีใครยอมเสียสละแก่กัน พราหมณ์ผู้เป็นโยคีกล่าวว่า "นางต้องเป็นของข้าเพราะข้าเป็นคนร่ายมนตร์ศักดิ์สิทธิ์ชุบนางขึ้นมาจากความตาย ข้าย่อมมีสิทธิ์ในตัวนาง" พราหมณ์คนที่สองเถียงว่า "นางควรเป็นของข้าเพราะข้าเป็นคนเอาอัฐิของนางไปโปรยลงในแม่น้ำคงคา ทำให้นางสะอาดบริสุทธิ์ด้วยสายน้ำอันศักดิ์สิทธิ์นั้น" และพราหมณ์คนที่สามก็กล่าวขึ้นอย่างเชื่อมั่นเต็มที่ว่า "ข้าเท่านั้นที่ควรจะได้นางเป็นภรรยา เพราะข้าเอาเถ้าถ่านของนางมาเก็บไว้และบำเพ็ญตบะเพื่อนางทุกวัน"

"โอ ราชะ" เวตาลกล่าวยิ้ม ๆ "โปรดตัดสินทีเถอะ ว่าในสามคนนี้นางควรจะเป็นของใคร ถ้าพระองค์รู้แล้วแกล้งไม่ตอบ พระเศียรของพระองค์จะต้องแยกเป็นเสี่ยง ๆ"

ฝ่ายพระเจ้าตริวิกรมเสนเมื่อได้ยินเวตาลพูดดังนั้นจึงตรัสว่า "ชายคนที่ร่ายมนตร์ทำให้นางคืนชีวิตขึ้นมานั้น ถึงแม้เขาจะต้องใช้ความสามารถและลำบากลำบนปานใด ก็ควรจะเป็นพ่อของนางเท่านั้น และพราหมณ์คนที่เอาอัฐิของนางไปสู่แม่น้ำคงคาก็ควรจะถือว่าเป็นลูกของนางอย่างเดียว ส่วนพราหมณ์ที่เก็บเถ้าถ่านของนางและคงอยู่ที่ป่าช้าถึงกับสร้างที่อยู่ตรงที่เผาศพนาง และบำเพ็ญตบะเพื่อนางนั่นต่างหาก ควรจะได้เป็นสามีของนางโดยแท้ เพราะเขาอยู่กับนางตลอดเวลามิได้ทอดทิ้งนางไปไหน แสดงความรักอันดื่มด่ำต่อนางแม้เพียงนอนบนเถ้าธุลีของนางโดยมิได้รังเกียจ"

เมื่อเวตาลได้ฟังพระเจ้าตริวิกรมเสนตรัส ดังนั้น เป็นการละเมิดสัญญาที่ตกลงกัน จึงอันตรธานจากบ่าของพระราชากลับไปที่อยู่ของตน แต่พระราชาก็ต้องทนลำบากติดตามหาตัวมันอีก ทั้งนี้ก็เพราะพระองค์ทรงถือมั่นในสัจจะที่ให้ไว้แก่โยคีศานติศีล และบุคคลที่มีสัจจะเช่นพระองค์นั้นไม่ว่าจะเป็นใครก็ย่อมจะปฏิบัติเหมือนกันหมด คือต้องทำภาระของตนให้สำเร็จลุล่วงไป ไม่ว่าจะต้องทนลำบากแม้ใหญ่หลวงเพียงไร

วันอาทิตย์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2556

อายุยืน

อายุยืน
สุรศักดิ์มายืนรอแฟนที่ห้างแห่งหนึ่ง เขารอแฟนนานมากจึงคิดจะไปล้างหน้า
หลังจากเดินออกมาจากห้องน้ำเขาก็เหลือบไปเห็นเด็กวัยรุ่นกำลังนั่งกินช็อกโกแลค
ทอฟฟี่ น้ำอัดลม เขาจึงเดินเข้าไปเตือน
สุรศักดิ์ : น้อง น้องรู้ไหมว่าของพวกนี้ไม่มีประโยชน์
เด็กวัยรุ่น : รู้เพ่ ก็ผมกินประจำ
สุรศักดิ์ : อ้าว แล้วน้องไม่เป็นไรหรือ
เด็กวัยรุ่น : ปู่ผมอายุ 100ปี
สุรศักดิ์ : ปู่น้องกินของพวกนี้ประจำเหมือนกันเรอะ
เด็กวัยรุ่น : ป่าว
สุรศักดิ์ : แล้วเอาปู่มาอ้างทำไม
เด็กวัยรุ่น : ปู่ผมไม่เคยยุ่งเรื่องชาวบ้าน อายุเลยยืน
สุรสักดิ์ : ???????? 

เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์



 เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์(Nuclear Reactor) คือ เครื่องผลิตพลังงานนิวเคลียร์ที่สามารถควบคุมการแบ่งแยก
นิวเคลียร์และปฏิกิริยาลูกโซ่ให้เกิดขึ้นในอัตราที่พอเหมาะ ทำให้สามารถนำเอาพลังงานความร้อน นิวตรอน 
และรังสีที่เกิดขึ้นไปใช้ให้เป็นประโยชน์ได้
        เรื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์มีหลายชนิด มีรูปร่างและขนาดแตกต่างกันไป โดยแบ่งการทำงานเป็น 2 ส่วน ซึ่งแต่ละส่วน
มีส่วนประกอบของเครื่องโดยทั่วไปมีดังนี้
  1. เชื้อเพลิง (Fuel) อาจใช้ยูเรเนียม พลูโตเนียม เป็นต้น
     2. มอเดอร์เรเตอร์ (Moderator) มีหน้าที่ทำให้นิวตรอนวิ่งช้าลงเพราะนิวตรอนช้ามีประสิทธิภาพในการทำให้เกิดการ
แบ่งแยกนิวเคลียสได้ดีกว่านิวตรอนเร็ว สารที่ใช้เป็นมอเดอร์เรเตอร์ได้แก่ คาร์บอน เมื่อนิวตรอนวิ่งผ่านคาร์บอนจะชนกับ
อะตอมของคาร์บอนทำให้มันวิ่งช้าลงได้ความเร็วตามต้องการ
     3. แท่งบังคับ (Control Rods) มีหน้าที่ควบคุมอัตราการเกิดปฏิกิริยาไม่ให้เกิดมากเกินไป ที่นิยมใช้คือ แคดเมียม หรือ
โบรอน แคดเมียมจะเป็นตัวดูดกลืนนิวตรอนไว้ได้ดีมาก ดังนั้นถ้าสอดแท่งแคดเมียมให้ลึกเข้าไปในเครื่องมาก ๆ ก็จะดูดกลืน
นิวตรอนไว้ได้น้อยลงทุกทีและปฏิกิริยาลูกโซ่ก็จะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นตามมา
     4. ตัวทำให้เย็น (Coolant) เพื่อนำเอาความร้อนออกไปจากเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ โดยอาจใช้น้ำธรรมดาหรือโลหะ
โซเดียมหรือแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ ฮีเลียม อากาศเป็นต้น
     5. เครื่องกำบัง (Shield) มีหน้าที่ป้องกันไม่ให้รังสีออกจากเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ซึ่งอาจทำอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย 
เครื่องกำบังอาจทำด้วยคอนกรีตหนา ๆ หรืออาจใช้บ่อน้ำก็ได้
     การทำงานของเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์อาจอธิบายได้ดังนี้ เริ่มจากยูเรเนียมที่ใส่อยู่ในเครื่องนั้นปกติจะเป็น  มีปริมาณ
น้อยกว่า 1% ของยูเรเนียมทั้งหมดทำหน้าที่ เป็นเชื้อเพลิง ส่วนยูเรเนียมที่เหลือนอกนั้นคือ  เมื่อมีนิวตรอนวิ่งผ่านเข้าไป
ในเครื่องจะยิงนิวเคลียสของ  ทำให้เกิดการแบ่งแยกนิวเคลียสขึ้น นิวเคลียสที่ถูกแบ่ง แยกออกจะมีนิวตรอนเกิดขึ้น 1 
หรือ 2 ตัว ซึ่งจะวิ่งผ่านเข้าเครื่องต่อไปแล้วยิงนิวเคลียสอื่นต่อไป ทำให้เกิดปฏิกิริยาลูกโซ่และได้พลังงานเกิดขึ้นมากมาย


วันจันทร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2556

อ่าวมาหยา


      กำแพงผาหินปูนขนาดใหญ่โอบล้อมผืนน้ำสีฟ้าใสที่ค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีเขียวใสเมื่อห่างออกมาจากชายหาด และเป็นสีเขียวเข้มเมื่อลงไปสู่พื้นที่ลึก ๆ บริเวณนี้คลาคล่ำไปด้วยนักท่องเที่ยวที่มาเยือน ซึ่งต่างรู้สึกถึงความสบาย เงียบสงบท่ามกลางหาดขาว แดดสวย หลายคนอาจเคยชมภาพยนตร์เรื่อง The Beach ซึ่งใช้อ่าวมาหยาอันเป็นสวนหนึ่งของเกาะพีพีเล อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี เป็นสถานที่ถ่ายทำ จนอ่าวมาหยากลายเป็นแหล่งทองเที่ยวที่มีผู้คนรู้จักไปทั่วโลก หลายคนอดใจไม่ไหว ต้องมาเยือนให้ได้สักครั้ง

         ใครได้มาเยือนหาดทรายในเวิ้งอ่าวแห่งนี้แล้วไม่หลงรัก ต้องบอกว่าใจแข็งมาก เพราะเพียงแรกเห็นอ่าวมาหยาหลายคนก็ตกหลุมรักแล้ว สำหรับกิจกรรมของนักท่องเที่ยวที่มาเยือนอ่าวมาหยา ส่วนใหญ่เน้นการดำน้ำดูปะการังน้ำตื้น นอนอาบแดด พายเรือคายัก หรือปีนหน้าผา ซึ่งจะเห็นทิวทัศน์ที่สวยงามไปอีกแบบ

         ทางอุทยานฯ หาดนพรัตน์ ธารา-หมู่เกาะพีพีอนุญาตให้พักค้างแรมบนอ่าวมาหยาได้ โดยต้องนำอุปกรณ์ต่าง ๆ ไปเอง และควรติดต่อเจ้าหน้าที่ล่วงหน้า




     การเดินทาง  

         จากจังหวัดกระบี่ วิธีการเดินทางท่องเที่ยวที่สะดวกที่สุด คือ ใช้บริการเรือทัวร์ เพราะเรือใหญ่ให้บริการเฉพาะเส้นทางเกาะพีพี ไปไม่ถึงเกาะพีพีเล ต้องเหมาเรือหางยาว หรือซื้อทัวร์แบบไปเช้า-กลับเย็นจะสะดวกที่สุด

         บริษัททัวร์ผู้ไห้บริการในเส้นทางนี้ คือ

        
 เกาะพีพี ทัวร์ โทรศัพท์ 08 1477 4857, 08 7885 0880

        
 ทัวร์กระบี่ โทรศัพท์ 0 7563 2212, 08 9650 9110

         สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี ตำบลอ่าวนาง อำเภอเมืองฯ จังหวัดกระบี่ 81000 โทรศัพท์ 0 7563 7200, 0 7566 1145

น้ำตกพริ้ววว'ว





อุทยานแห่งชาติน้ำตกพลิ้ว มีพื้นที่ครอบคลุมท้องที่อำเภอเมือง อำเภอแหลมสิงห์ อำเภอขลุง และอำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี ประกอบด้วยป่าที่สมบูรณ์ เทือกเขาสูงสลับซับซ้อนเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารหลายสาย และมีเอกลักษณ์ทางธรรมชาติ คือ น้ำตกพลิ้วที่สวยงาม มีน้ำตกตลอดปี เป็นที่รู้จักของประชาชนทั่วไป ซึ่งอยู่ห่างจากจังหวัดจันทบุรีประมาณ 14 กิโลเมตร ถนนลาดยางตลอดสายทำให้สะดวกสบายในการไปเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ มีเนื้อที่ประมาณ 134.50 ตารางกิโลเมตร หรือ 84,062.50 ไร่


ความเป็นมา : ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2502 ให้กำหนดป่าเขาสระบาป จังหวัดจันทบุรี และป่าอื่นๆ ในท้องที่จังหวัดต่างๆ รวม 14 ป่า เป็นอุทยานแห่งชาติ ในขั้นแรกกรมป่าไม้ได้กำหนดพื้นที่ที่ดินป่าน้ำตกพลิ้ว-เขาสระบาป ให้เป็นป่าสงวนแห่งชาติในปี พ.ศ. 2505 ออกตามพระราชบัญญัติคุ้มครองและสงวนป่า พุทธศักราช 2481 ลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2504 และในปี พ.ศ. 2515 ได้ดำเนินการพัฒนาและปรับปรุงบริเวณน้ำตกพลิ้ว จัดตั้งเป็นวนอุทยานน้ำตกพลิ้ว อยู่ในความควบคุมดูแลของสำนักงานป่าไม้จังหวัดจันทบุรี

ในคราวประชุมคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2517 เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2517 ได้มีมติให้รีบดำเนินการประกาศพื้นที่ป่าที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2502 เป็นอุทยานแห่งชาติโดยเร็ว และจังหวัดจันทบุรีได้มีหนังสือด่วนมาก ที่ จบ.09/1401 ลงวันที่ 31 มกราคม 2517 ขอให้กรมป่าไม้ส่งเจ้าหน้าที่ไปประจำวนอุทยานน้ำตกพลิ้ว เพื่อปรับปรุงให้เป็นไปตามหลักการจัดการวนอุทยาน ประกอบกับในปี 2517 กองอุทยานแห่งชาติมีแผนงานจัดบริเวณดังกล่าวเป็นอุทยานแห่งชาติ ดังนั้นในเดือนมีนาคม 2517 กรมป่าไม้จึงมีคำสั่งที่ 360/2517 ลงวันที่ 28 มีนาคม 2517 ให้นายสินไชย บูรณะเรข นักวิชาการป่าไม้ตรี และนายประชุม ตัณยะบุตร พนักงานโครงการชั้น 2 ไปทำการสำรวจหาข้อมูลบริเวณป่าน้ำตกพลิ้ว เขาสระบาป ในท้องที่จังหวัดจันทบุรี ปรากฏว่า บริเวณดังกล่าวประกอบด้วยเทือกเขาสลับซับซ้อน เป็นต้นน้ำลำธาร เช่น น้ำตก หน้าผา ถ้ำ ตามหนังสือรายงานผลการสำรวจ ที่ กส 0708(อส)/7 ลงวันที่ 28 มิถุนายน 2517

กรมป่าไม้ได้นำเสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ซึ่งมีมติในคราวประชุมครั้งที่ 6/2517 เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2517 เห็นชอบให้กำหนดที่ดินบริเวณดังกล่าวเป็นอุทยานแห่งชาติ โดยได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าน้ำตกพลิ้ว-เขาสระบาป ในท้องที่ตำบลพลับพลา ตำบลคลองนารายณ์ ตำบลคมบาง อำเภอเมืองจันทบุรี ตำบลพลิ้ว อำเภอแหลมสิงห์ ตำบลมะขาม อำเภอมะขาม และตำบลมาบไพ ตำบลวังสรรพรส ตำบลตรอกนอง ตำบลซึ้ง ตำบลตะปอน ตำบลเกวียนหัก อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 92 ตอนที่ 87 ลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2518 เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 11 ของประเทศไทย โดยใช้ชื่อว่า " อุทยานแห่งชาติเขาสระบาป "

ต่อมานายผจญ ธนมิตรามณี หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาสระบาป ได้มีหนังสือ ที่ กษ 0708 (สบ)/พิเศษ ลงวันที่ 1 มีนาคม 2525 ขอเปลี่ยนชื่ออุทยานแห่งชาติเขาสระบาปเป็นอุทยานแห่งชาติน้ำตกพลิ้ว เนื่องจากน้ำตกพลิ้วเป็นน้ำตกที่มีความสวยงามตามธรรมชาติเป็นจุดเด่นของอุทยานแห่งชาติ เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวและประชาชนโดยทั่วไปเป็นเวลานานแล้ว ซึ่งคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติได้มีมติในคราวประชุมครั้งที่ 3/2525 เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2525 เห็นชอบให้เปลี่ยนชื่อเป็น " อุทยานแห่งชาติน้ำตกพลิ้ว "

โรงแรมที่สวยที่สุดในโลก

BURJ AL ARAB โรงแรมหรูหราระดับ 7 ดาว เป็นโรงแรมที่สวยที่สุด และมีชื่อเสียงของตะวันออกกลาง ที่หลายคนอยากมาเข้ามาสัมผัส ตั้งอยู่ริมอ่าว ซึ่งเป็นที่พักของเศรษฐีชาวอาหรับและเศรษฐีทั่วโลก 

ชื่อ BURJ AL ARAB มีความหมายแปลตามตัวอักษรได้ว่า......
Burj แปลว่า หอคอย
Al เป็น article เหมือนคำว่า the
ARAB คือ อาหรับ
ดังนั้นชื่อโรงแรมแห่งนี้หมายถึง หอคอยแห่งอาหรับ นั่นเองครับ

เป็นโรงแรมที่ออกแบบและถูกสร้างในสไตล์ Modern ออกแบบโดยสถาปนิกชาว ฝรั่งเศส ที่ตั้งใจให้โรงแรมแห่งนี้มีรูปทรงคล้ายเรือใบ 

ฝ้าของโถง Lobby ออกแบบเป็นวงรียาว จากซ้ายจรดขวา สวยทุกมุมมอง และมีพรมสีแดงตัดกับสีเหลืองทองทรงรีรองรับอยู่ด้านล่าง 
โถง Lobby ที่สวยงาม อ๊ากๆๆๆๆ อยากไป





อยากไป.....แต่.........ม่ายมีตัง-_-!!

วันอาทิตย์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2556

โพสดีๆ







บัณฑิตพึงทำความดีทุกเมื่อ ถ้าทำความดีช้าไป อกุศลจะเข้าแทรก เนื่องจากการชิงช่วงและช่วงชิงของความดีความชั่วนั้นมีอยู่ตลอดเวลา มนุษย์ทุกๆ คนนั้น ตราบใดที่ยังไม่หมดสิ้นอาสวกิเลส ต้องไม่ประมาทในการสร้างความดี เพราะความดีหรือบุญกุศลเป็นเสบียงที่สำคัญที่สุดของทุกชีวิต สำหรับการเดินทางไกลในสังสารวัฏ

ดังนั้น จึงควรหมั่นสั่งสมบุญให้มาก ให้ทุกลมหายใจเป็นไปเพื่อการสั่งสมบุญบารมี เมื่อใจของเราผูกพันกับการสร้างบารมีเช่นนี้ จิตใจย่อมจะถูกกลั่นให้ใสสะอาดบริสุทธิ์ เหมาะสมที่จะเป็นภาชนะรองรับบุญใหญ่ รองรับการบรรลุมรรคผลนิพพานต่อไป

.............................................................
เติมความสุข กำลังใจ สู่ความสำเร็จในการดำเนินชีวิตที่ดีงาม
www.facebook.com/ThanavuddhoStory
ขอขอบคุณและอนุโมทนาบุญกับท่านเจ้าของภาพนี้




วันเสาร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2556

บทละคอนเรื่องระเด่นลันได



บทละคอนเรื่องระเด่นลันได


(ช้าปี่)
๏ มาจะกล่าวบทไป
ถึงระเด่นลันไดอนาถา
เสวยราชย์องค์เดียวเที่ยวรำภา
ตามตลาดเสาชิงช้าหน้าโบสถ์พราหมณ์
อยู่ปราสาทเสาคอดยอดด้วน
กำแพงแก้วแล้วล้วนด้วยเรียวหนาม
มีทหารหอนเห่าเฝ้าโมงยาม
คอยปราบปรามประจามิตรที่คิดร้าย ฯ ๔ คำ ฯ


๏ เที่ยวสีซอขอข้าวสารทุกบ้านช่อง
เป็นเสบียงเลี้ยงท้องของถวาย
ไม่มีใครชังชิงทั้งหญิงชาย
ต่างฝากกายฝากตัวกลัวบารมี
พอโพล้เพล้เวลาจะสายัณห์
ยุงชุมสุมควันแล้วเข้าที่
บรรทมทมเหนือลำแพนแท่นมณี
ภูมีซบเซาเมากัญชา ฯ ๔ คำ ฯ


(ร่าย)
๏ ครั้นรุ่งแสงสุริยันตะวันโด่ง
โก้งโค้งลงในอ่างแล้วล้างหน้า
เสร็จเสวยข้าตังกับหนังปลา
ลงสระสรงคงคาในท้องคลอง ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ


(ชมตลาด)
๏ กระโดดคำสามทีสีเหื่อไคล
แล้วย่างขึ้นบันไดเข้าในห้อง
ทรงสุคนธ์ปนละลายดินสอพอง
ชโลมสองแก้มคางอย่างแมวคราว
นุ่งกางเกงเข็มหลงอลงกรณ์
ผ้าทิพย์อาภรณ์พื้นขาว
เจียระบาดเสมียนละว้ามาแต่ลาว
ดูราวกับหนังแขกเมื่อแรกมี
สวมประคำดีควายตะพายย่าม
หมดจดงดงามกว่าปันหยี
กุมตระบองกันหมาจะราวี
ถือซอจรลีมาตามทาง ฯ ๖ คำ ฯ เพลงช้า


(ร่าย)
๏ มาเอยมาถึง
เมืองหนึ่งสร้างใหม่ดูใหญ่กว้าง
ปราสาทเสาเล้าหมูอยู่กลาง
มีคอกโคอยู่ข้างกำแพงวัง
พระเยื้องย่างเข้าทางทวารา
หมู่หมาแห่ห้อมล้อมหน้าหลัง
แกว่งตระบองป้องปัดอยู่เก้กัง
พระทรงศักดิ์หยักรั้งคอยราญรอน ฯ ๔ คำ ฯ เชิด


๏ เมื่อนั้น
นางประแดะหูกลวงดวงสมร
ครั้นรุ่งเช้าท้าวประดู่ภูธร
เสด็จจรจากเวียงไปเลี้ยงวัว
โฉมเฉลาเนาในที่ไสยา
บรรจงหั่นกัญชาไว้ท่าผัว
แล้วอาบน้ำทาแป้งแต่งตัว
หวีหัวหาเหาเกล้าผมมวย
ได้ยินแว่วสำเนียงเสียงหมาเห่า
คิดว่าวัวเข้าในสวนกล้วย
จึงออกมาเผยแกลอยู่แร่รวย
ตวาดด้วยสุรเสียงสำเนียงนาง
พอเหลือบเห็นระเด่นลันได
อรไทผินผันหันข้าง
ชม้อยชม้ายชายเนตรดูพลาง
ชะน้อยฤๅรูปร่างราวกับกลึง
งามกว่าภัสดาสามี
ทั้งเมืองตานีไม่มีถึง
เกิดกำหนัดกลัดกลุ้มรุมรึง
นางตะลึงแลดูพระภูมี ฯ ๑๐ คำ ฯ


๏ เมื่อนั้น
พระสุวรรณลันไดเรืองศรี
เหลียวพบสบเนตรนางตานี
ภูมีพิศภักตร์ลักขณา ฯ ๒ คำ ฯ


(ชมโฉม)
๏ สูงระหงทรงเพียวเรียวรูด
งามละม้ายคลายอูฐกะหลาป๋า
พิศแต่หัวตลอดเท้าขาวแต่ตา
ทั้งสองแก้มกัลยาดังลูกยอ
คิ้วก่งเหมือนกงเขาดีดฝ้าย
จมูกละม้ายคล้านพร้าขอ
หูกลวงดวงพักตร์หักงอ
ลำคอโตตันสั้นกลม
สองเต้าห้อยตุงดังถุงตะเคียว
โคนเหี่ยวแห้งรวบเหมือนบวบต้ม
เสวยสลายาจุกพระโอษฐ์อม
มันน่าเชยน่าชมนางเทวี ฯ ๖ คำ ฯ


(ร่าย)
๏ นี่จะเป็นลูกสาวท้าวพระยา
ฤาว่าเป็นพระมเหสี
อกใจทึกทักรักเต็มที
ก็ทรงสีซอสุวรรณขึ้นทันใด ฯ ๒ คำ ฯ


(พัดชา)
๏ ยักย้ายร่ายร้องเป็นลำนำ
มีอยู่สองคำจำไว้ได้
สุวรรณหงษ์ถูกหอกอย่าบอกใคร
ถูกแล้วกลับไปได้เท่านั้น ฯ ๒ คำ ฯ


(ร่าย)
๏ แล้วซ้ำสีอิกกระดิกนิ้ว
ทำยักคิ้วแลบลิ้นเล่นขบขัน
เห็นโฉมยงหัวร่ออยู่งองัน
พระทรงธรรม์ทำหนักชักเฉื่อยไป ฯ ๒ คำ ฯ มโหรี


๏ เมื่อนั้น
นางประแดะตานีศรีใส
สดับเสียงสีซอพอฤทัย
ให้วาบวับจับใจผูกพัน
ยิ่งคิดพิศวงพระทรงศักดิ์
ลืมรักท้าวประดู่ผู้ผัวขวัญ
ทำไฉนจะได้พระทรงธรรม์
มาเคียงพักตร์สักวันด้วยรักแรง
คิดพลางทางเข้าไปในห้อง
แล้วตักเอาเข้ากล้องมาสองแล่ง
ค่อยประจงลงใส่กระบะแดง
กับปลาสลิดแห้งห้าหกตัว
แล้งลงจากบรรไดมิได้ช้า
เข้ามานอบนบจบเหนือหัว
เอาปลาใส่ย่ามด้วยความกลัว
แล้วยอบตัวลงบังคมก้มพักตรา ฯ ๘ คำ ฯ


๏ เมื่อนั้น**
ลันไดให้แสนเสน่หา
อะรามรักยักคิ้วหลิ่วตา
พูดจาลดเลี้ยวเกี้ยวพาน ฯ ๒ คำ ฯ


(โอ้โลม)
๏ งามเอยงามปลอด
ชีวิตพี่นี้รอดด้วยข้าวสาร
เป็นกุศลดลใจเจ้าให้ทาน
เยาวมาลย์แม่มีพระคุณนัก
พี่ขอถามนามท้าวเจ้ากรุงไกร
ชื่อเรียงเสียงไรไม่รู้จัก
เจ้าเป็นพระมเหสีที่รัก
ฤานงลักษณ์เป็นราชธิดา
รูปร่างอย่างว่ากะลาสี
พี่ให้มีใจรักเจ้าหนักหนา
ว่าพลางเข้าใกล้กัลยา
พระราชาฉวยฉุดยุดมือไว้ ฯ ๖ คำ ฯ


(ร่าย)
๏ ทรงเอยทรงกระสอบ
ทำเล่นเห็นชอบฤาไฉน
ไม่รู้จักมักจี่นี่อะไร
มาเลี้ยวไล่ฉวยฉุดยุดข้อมือ
ยิ่งว่าก็ไม่วางทำอย่างนี้
พระจะมีเงินช่วยข้าด้วยฤๅ
อวดว่ากล้าแข็งเข้าแย่งยื้อ
ลวนลามถามชื่อน้องทำไม
น้องมิใช่ตัวเปล่าเล่าเปลือย
หยาบเหมือนขี้เลื่อยเมื่อยหัวไหล่
ลูกเขาเมียเขาไม่เข้าใจ
บาปกรรมอย่างไรก็ไม่รู้ ฯ ๖ คำ ฯ


(ชาตรี)
๏ ดวงเอยดวงไต้
สบถได้เจ็ดวัดทัดสองหู
ความจริงพี่มิเล่นเป็นเช่นชู้
จะร่วมเรียงเคียงคู่กันโดยดี
ถึงมิใช่ตัวเปล่าเจ้ามีผัว
พี่ไม่กลัวบาปดอกนะโฉมศรี
อันนรกตกใจไปไยมี
ยมพระบาลกับพี่เป็นเกลอกัน
เพียงจับมือถือแขนอย่าแค้นเคือง
จะให้น้องสองเฟื้องอย่าหุนหัน
แล้วแก้เงินในไถ้ออกให้พลัน
นี่แลขันหมากหมั้นกัลยา
พอดึกดึกสักหน่อยนะน้องแก้ว
พี่จะลอดล่องแมวขึ้นไปหา
โฉมเฉลาเจ้าจงได้เมตตา
เปิดประตูไว้ท่าอย่าหลับนอน ฯ ๘ คำฯ


(ร่าย)
๏ ทรงเอยทรงกระโถน
อย่ามาพักปลอบโยนให้โอนอ่อน
ไม่อยากได้เงินทองของภูธร
นางเคืองค้อนคืนให้ไม่อินัง
ช่างอวดอ้างว่านรกไม่ตกใจ
คนอะไรอย่างนี้ก็มีมั่ง
เชิญเสด็จรีบออกไปนอกวัง
อย่ามานั่งวิงวอนทำค่อนแคะ
เพียงแต่รู้จักกันกระนั้นพลาง
พอเป็นทางไมตรีกระนี้แหละ
เมื่อพระอดข้าวปลาจึงมาแวะ
น้องฤๅชื่อประแดะดวงใจ
ท่านท้าวประดู่ผู้เป็นผัว
ยังไปเลี้ยงวัวหากลับไม่
แม้นยังช้าชีวันจะบรรลัย
เร่งไปเสียเถิดพระราชา ฯ ๘ คำ ฯ


๏ เมื่อนั้น
ลันไดยิ้มเยาะหัวเราะร่า
เราไม่เกรงกลัวอิทธิฤทธา
ท้าวประดู่จะมาทำไมใคร
พี่ก็ทรงศักดากล้าหาญ
แต่ข้าวสารเต็มกระบุงยังแบกไหว
ปลาแห้งพี่เอาเข้าเผาไฟ
ประเดี๋ยวใจเคี้ยวเล่นออกเป็นจุณ ฯ ๔ คำ ฯ


๏ เมื่อนั้น
นางประแดะเห็นความจะวามวุ่น
จึงนบนอบยอบตัวทำกลัวบุญ
ไม่รู้เลยพ่อคุณนี้มีฤทธิ์
กระนั้นซิเมื่อพระเสด็จมา
หมูหมาย่นย่อไม่รอติด
ขอพระองค์จงฟังยั้งหยุดคิด
อย่าให้มีความผิดติดตัวน้อง
ท้าวประดู่ภูธรเธอขี้หึง
ถ้ารึ้งท้าวเธอจะทุบถอง
จงไปเสียก่อนเถิดพ่อรูปทอง
อย่าให้น้องชั่วช้าเป็นราคี
ว่าพลางทางสลัดปัดกร
ควักค้อนยักหน้าตาหยิบหยี
นาดกรอ่อนคอจรลี
เดินหนีมิให้มาใกล้กราย ฯ ๘ คำ ฯ


๏ เมื่อนั้น
ลันไดไม่สมอารมณ์หมาย
เห็นนางหน่ายหนีลี้กาย
โฉมฉายสลัดพลัดมือไป
มันให้ขัดสนยืนบ่นออด
เจ้ามาทอดทิ้งพี่หนีไปได้
ตัวกูจะอยู่ไปทำไม
ก็ยกย่ามขึ้นไหล่ไปทั้งรัก ฯ ๔ คำ ฯ เชิด


(ช้า)
๏ เมื่อนั้น
ท้าวประดู่สุริย์วงศ์ทรงกระฏัก
เที่ยวเลี้ยงวัวล้าเลื่อยเหนื่อยนัก
เข้าหยุดยั้งนั่งพักในศาลา
วันเมื่อมเหสีจะมีเหตุ
ให้กระตุกในเนตรทั้งซ้ายขวา
ตุ๊กแกตกลงตรงพักตรา
คลานไปคลานมาก็สิ้นใจ
แม่โคขึ้นสัดผลัดโคตัวผู้
พิเคราะห์ดูหลากจิตคิดสงสัย
จะมีเหตุแม่นมั่นพรั่นพระทัย
ก็เลี้ยวไล่โคกลับเข้าพารา ฯ ๖ คำ ฯ เชิด


(ร่าย)
๏ ครั้นถึงขอบรั้วริมหัวป้อม
พระวิ่งอ้อมเลี้ยวลัดสกัดหน้า
ไล่เข้าคอกพลันมิทันช้า
เอาขี้หญ้าสุมควันกันริ้นยุง
ยืนลูบเนื้อตัวที่หัวบันได
แล้วเข้าในปรางค์รัตน์ผลัดผ้านุ่ง
ยุรยาตรเยื้องย่างมาข้างมุ้ง
เห็นกระบุงข้าวกล้องนั้นพร่องไป
ปลาสลิดในกระบายก็หายหมด
พระทรงยศแสนเสียดายน้ำลายไหล
กำลังหิวข้าเศร้าเสียใจ
ก็เอนองค์ลงในที่ไสยา
กวักพระหัตถ์ตรัสเรียกมเหสี
เข้ามานี่พุ่มพวงดวงยี่หวา
วันนี้มีใครไปมา
ยังพาราเราบ้างฤๅอย่างไร ฯ ๘ คำ ฯ


๏ เมื่อนั้น
นางประแดะฟังความที่ถามไถ่
กราบทูลเยื้องยักกระอักกระไอ
ร้อนตัวกลัวภัยพระภูมี
ตั้งแต่พระเสด็จไปเลี้ยงวัว
น้องก็นอนซ่อนตัวอยู่ในที่
ไม่เห็นใครไปมายังธานี
จงกราบใต้เกศีพระราชา ฯ ๔ คำ ฯ


๏ เมื่อนั้น
ท้าวประดู่ได้ฟังให้กังขา
จึงซักไซ้ไล่เลียงกัลยา
ว่าไม่มีใครมาน่าแคลงใจ
ทั้งข้าวทั้งปลาของข้าหาย
เขายักย้ายขายซื้อฤๅไฉน
ฤาลอบลักตักให้แก่ผู้ใด
จงบอกไปนะน้องนางอย่าพรางกัน ฯ ๔ คำ ฯ


๏ เมื่อนั้น
นางประแดะตกใจอยู่ไหวหวั่น
ด้วยแรกเริ่มเดิมทูลพระทรงธรรม์
ว่าใครนั่นมิได้จะไปมา
ครั้นจะไม่ทูลความไปตามจริง
ก็เกรงกริ่งด้วยพิรุธมุสา
สารภาพกราบลงกับบาทา
วอนว่าอย่าโกรธจงโปรดปราน
วันนี้มีหน่อกระษัตรา
เที่ยวมาสีซอขอข้าวสาร
น้องเสียมิได้ก็ให้ทาน
สิ้นคำให้การแล้วผ่านฟ้า ฯ ๖ คำ ฯ


๏ เมื่อนั้น
ท้าวประดู่ได้ฟังนึกกังขา
ใครหนอหน่อเนื้อกระษัตรา
เที่ยวมาสีซอขอทาน
เห็นจะเป็นอ้ายระเด่นลันได
ที่ครอบครองกรุงไกรเทวฐาน
มันแสแสร้งแกล้งทำมาขอทาน
จะคิดอ่านตัดเสบียงเอาเวียงชัย
จึงชี้หน้าว่าเหม่มเหสี
มึงนี้เหมือนหนอนที่บ่อนไส้
ขนเอาปลาข้าวให้เขาไป
วันนี้จะได้อะไรกิน
ถ้ามั่งมีศรีสุขก็ไม่ว่า
นี่สำเภาเลากาก็แตกสิ้น
แล้วมิหนำซ้ำตัวเป็นมลทิน
จะอยู่กินต่อไปให้คลางแคลง
เจ้าศรัทธาอาศัยอย่างไรกัน
ฤๅกระนี้กระนั้นก็ไม่แจ้ง
จะเลี้ยงไว้ไยเล่าเมื่อข้าวแพง
ฉวยชักพระแสงออกแกว่งไกว ฯ ๑๐ คำ ฯ


๏ เมื่อนั้น
นางประแดะเลี้ยวลอดกอดเอวได้
เหมือนเล่นงูกินหางไม่ห่างไกล
นึกประหวั่นพรั่นใจอยู่รัวรัว
โปรดก่อนผ่อนถามเอาความจริง
เมื่อชั่วแล้วแทงทิ้งเถิดทูนหัว
อันพระสามีเป็นที่กลัวฅ
จะทำนอกใจผัวอย่าพึงคิด
พระหึงหวงมิได้ล่วงพระอาญา
ที่ให้ข้าให้ปลานั้นข้าผิด
น้องนี้ทำชั่วเพราะมัวมิด
ทำไมกับชีวิตไม่เอื้อเฟื้อ
น้องมิได้ศรัทธาอาศัย
จะลุยน้ำดำไฟเสียให้เชื่อ
ไม่มีอาลัยแก่เลือดเนื้อ
แต่เงื้อเงื้อไว้เถิดอย่าเพ่อแทง ฯ ๘ คำ ฯ


๏ เมื่อนั้น
ท้าวประดู่เดือดนักชักพระแสง
ถ้าบอกจริงให้กูอีหูแหว่ง
จะงดไว้ไม่แทงอย่าแย่งยุด
กูก็เคยเกี้ยวชู้รู้มารยา
มิใช่มึงโสดามหาอุด
มันเป็นถึงเพียงนี้ก็พิรุธ
ถึงดำน้ำร้อยผุดไม่เชื่อใจ
ยังจะท้าพิสูจน์รูดลอง
พ่อจะถองให้ยับจนตับไหล
เห็นว่ากูหลงรักแล้วหนักไป
เออระไรนี่หวาน้ำหน้ามึง
หาเอาใหม่ให้ดีกว่านี้อีก
ผิดก็เสียเงินปลีกสองสลึง
กังลังกริ้วโกรธาหน้าตึง
ถีบผึงถูกตะโพกโขยกไป ฯ ๘ คำ ฯ


(โอ้)
๏ เมื่อนั้น
นางประแดะเจ็บจุกลุกไม่ไหว
ค่อยยืนยันกะเผลกเขยกไป
เข้ายังครัวไปร้องไห้โฮ
ร้องดิ้นเร่าเร่าพ่อเจ้าเอ๋ย
ลูกไม่เคยโกหกพกโมโห
เสียแรงได้เป็นข้ามาแต่โซ
กลับพาโลโกรธาด่าตี
น้องก็ไร้ญาติวงศ์พงศา
หมายพึ่งบาทาพระโฉมศรี
โคตรพ่อโคตรแม่ก็ไม่มี
อยู่ถึงเมืองตานีเขาตีมา
ตะโพกโดกโดยเมียแทบคลาด
ถีบด้วยพระบาทดังชาติข้า
จะอยู่ไปไยเล่าไม่เข้ายา
ตายโหงตายห่าก็ตายไป ฯ ๘ คำ ฯ โอด


(ร่าย)
๏ เมื่อนั้น
ท้าวประดู่ได้ฟังดังเพลิงไหม้
ดูดู๋อีประแดะค่อนแคะได้
กลับมาด่าได้อีใจเพชร
เอาแต่คารมเข้าข่มกลบ
กูจะจิกหัวตบเสียให้เข็ด
ชะช่างโศกาน้ำตาเล็ด
กูรู้เช่นเห็นเท็จทุกสิ่งอัน ฯ ๔ คำ ฯ


๏ ว่าพลางทางคว้าได้พร้าโต้
ดุด่าตาโตเท่ากำปั้น
ผลักประตูครัวไฟเข้าไปพลัน
นางประแดะยืนยันลั่นกลอนไว้
ผลักมาผลักไปอยู่เป็นครู่
จะเข้าไปในประตูให้ให้จงได้
กระทืบฟากโครมครามความแค้นใจ
อึกทึกทั่วไปในพารา ฯ ๔คำ เชิด ฯ


๏ บัดนั้น
พวกหัวไม้กระดูกผีขี้ข้า
บ่อนเลิกกินเหล้าเมากลับมา
ได้ยินเสียงเถียงด่ากันอื้ออึง
จึงหยุดนั่งข้างนอกริมคอกวัว
ว่าเมียผัวคู่นี้มันขี้หึง
พอพลบค่ำราตรีตีตะบึง
อึงคะนึงนักหนาน่าขัดใจ
แล้วคว้าก้อนอิฐปาเข้าฝาโผง
ตกถูกโอ่งปาล้อแลหม้อไห
พลางตบมือร้องเย้ยเผยไยไย
แล้ววิ่งไปทางตะพานบ้านตะนาว ฯ ๖ คำ ฯ รัว


๏ เมื่อนั้น
ท้าวประดู่ตาพองร้องบอกกล่าว
หยิบงอบครอบหัวตัวสั่นท้าว
อ้ายพ่อจ้าวชาวบ้านวานช่วยกัน
วัวน้ำวัวหลวงกูได้เลี้ยง
อิฐมาเปรี้ยงเปรี้ยงเสียงสนั่น
สาเหตุมีมาแต่กลางวัน
คงได้เล่นเห็นกันอ้ายลันได
ทั้งนี้เพราะอีมะเหเสือ
จะกินเลือดกินเนื้อกูให้ได้
ขว้างวังครั้งนี้ไม่มีใคร
ชู้มึงฤๅมิใช่อีมารยา
พระฉวยได้ไม้ยุงปัดกวัดแกว่ง
สำคัญว่าพระแสงขึ้นเงื้อง่า
เลี้ยวไล่ฟาดฟันกัลยา
วิ่งมาวิ่งไปอยู่ในครัว ฯ ๘ คำฯ


(สับไทย)
๏ เหม่เหม่ดูดู๋อีประแดะ
ทีนี้แหละเห็นประจักษ์ว่ารักผัว
หากกูรู้ตัว
หัวไม่แตกแตน
ขว้างแล้วหนีไป
มิได้ตอนแทน
ยิ่งคิดยิ่งแค้น
เลี้ยวเล่นไล่ตี ฯ ๔ คำฯ


(รื้อ)
๏ ทรงเอยทรงกระบอก
น้องไม่เห็นด้วยดอกพระโฉมศรี
ปาวังครั้งนี้
มิใช่ชู้น้อง
สืบสมดังว่า
สัญญาให้ถอง
วิ่งพลางทางร้อง
ตีน้องทำไม ฯ ๔คำฯ


๏ เหลือเอยเหลือเถน
ขัดเขมรขบฟันมันไส้
ปรานีมึงไย
ใครใช้มีชู้
ไม่เลี้ยงเป็นเมีย
ไปเสียอย่าอยู่
รั้ววังของกู
ปิดประตูตีแมว ฯ ๔ฯ เชิด


๏ เมื่อนั้น
นางประแดะเหนื่อยอ่อนลงนอนแซ่ว
ยกมือท่วมหัวลูกกลัวแล้ว
กอดก้นผัวแก้วเข้าคร่ำครวญ ฯ ๒ คำ ฯ


(โอ้)
๏ โอ้พระยอดตองของน้องเอ๋ย
กระไรเลยช่างสลัดตัดเด็ดด้วน
แม้นชั่วช้าจริงจังก็บังควร
พ่อมาด่วนมุทะละดุดันไป
จงตีแต่พอหลาบปราบพอจำ
จะเฝ้าเวียนเฆี่ยนซ้ำไปถึงไหน
งอโทษโปรดเถิดพระภูวไนย
น้องยังไม่เคยไกลพระบาทา
ถึงไม่เลี้ยงเป็นพระมเหสี
จะขอพึ่งบารมีเป็นขี้ข้า
ไม่ถือว่าเป็นผัวเพราะชั่วข้า
จะก้มหน้าเป็นทาสกวาดขี้วัว
สิบคนเข้าไม่เท่าหนึ่งคนออก
อยู่กับคอกช่วยใช้พ่อทูนหัว
ร่ำพลางทางทุ่มทอดตัว
ตีอกชกหัวแล้วโศกา ฯ ๘ คำ ฯ โอด


(ร่าย)
๏ เมื่อนั้น
ท้าวประดู่ได้ฟังนางร่ำว่า
ให้นึกสมเพชเวทนา
น้ำตาไหลนองสักสองครุ
หวนรำลึกนึกถึงอ้ายลันได
กลับเจ็บใจไม่เหือดเดือดดุ
โมโหมืดหน้าบ้ามุทะลุ
กระดูกผุเมื่อไรก็ไม่ลืม
กูไม่อยากเอาไว้ใช้สอย
นึกว่าปล่อยสิงสัตว์วัดสามปลื้ม
แต่ชั้นทอผ้ายังคาฟืม
ดีแต่ยืมเข้ากินอีสิ้นอาย
แม่เรือนเช่นนี้มิเป็นผล
มันจะลวงล้วงก้นจนฉิบหาย
ไปเสียมึงไปไม่เสียดาย
กูจะเป็นพ่อหม้ายสบายใจ
สาวสาวชาววังก็ยังถม
ไม่ปรารมภ์ปรารี้จะมีใหม่
เก็บเงินค่านมผสมไว้
หาไหนหาได้ไม่ทุกข์ร้อย ฯ ๑๐ คำฯ


๏ เมื่อนั้น
นางประแดะหูกลวงดวงสมร
สุดที่จะพรากจากจร
บังอรข้อนทรวงเข้าร่ำไร ฯ ๒ คำฯ


(โอ้)
๏ โอ้พ่อใจบุญของเมียเอ๋ย
แปดค่ำพ่อเคยเชือดคอไก่
ต้มปลาร้าตั้งหม้อกับหน่อไม้
เมียยังอาลัยได้อยู่กิน
พระเคยรีดนมวัวให้เมียขาย
แม้สายที่ยังไม่หมดสิ้น
เหลือติดก้นกระบอกเอาจอกริน
ให้เมียกินวันละนิดคิดทุกวัน
แต่พอพลบรบเมียเข้ากระท่อม
พ่อนั่งกล่อมจนหลับแล้วรับขวัญ
ในมุ้งยุงชุมพ่อสุมควัน
สารพันทรงศักดิ์จะรักเมีย
จะกินอยู่พูวายสบายใจ
พ่อมอบไว้ให้วันละสิบเบี้ย
อกน้องดังไฟไหม้ลามเลีย
จะทิ้งเมียเสียได้ไม่ไยดี
เที่ยงนางกลางคืนพ่อทูนหัว
จะให้ออกนอกรั้วลูกกลัวผี
ก้นไต้ก้นไฟก็ไม่มี
ผัดรุ่งพรุ่งนี้เถิดพ่อคุณ
ถึงจะไม่ได้อยู่บนตำหนัก
ขอพึ่งพักอาศัยเพียงใต้ถุน
ยกโทษโปรดเถิดพ่อใจบุญ
เสียแรงได้เลี้ยงขุนมีคุณมา ฯ ๑๒ คำ ฯ


(ร่าย)
๏ เมื่อนั้น
ท้าวประดู่ได้ฟังชังน้ำหน้า
น้อยฤๅอีขี้เค้าเจ้าน้ำตา
ยังจะร่ำไรว่ากวนใจกู
เมินเสียเถิดหวาอีหน้ารุ้ง
อย่าพูดอยู่ข้างมุ้งรำคาญหู
ไสหัวมึงออกนอกประตู
ขืนอยู่ช้าไปได้เล่นกัน
ว่าพลางปิดบานทวารโผง
เข้าในห้องท้องพระโรงขมีขมัน
ยกหม้อตุ้งก่าออกมาพลัน
พระทรงศักดิ์ชักควันโขมงไป ฯ ๖ คำ ฯ


๏ เมื่อนั้น
นางประแดะทุกข์ร้อนถอนใจใหญ่
แล้วข่มขืนกลืนกลั้นชลนัยน์
จะอยู่ไปไยเล่าไม่เข้าการ
แต่ทุบตีมิหนำแล้วซ้ำขับ
ให้อายอับเพื่อนรั้วหัวบ้าน
เช้าค่ำร่ำว่าด่าประจาน
ใครจะทานทนได้ในฝีมือ
กูจะหาผัวใหม่ให้ได้ดี
เอาโยคีกินไฟไม่ได้ฤๅ
ไหนไหนชาวเมืองก็เลื่องฦๅ
อึงอื้ออับอายขายพักตรา
คว้าถุงเบี้ยได้ใส่กระจาด
ฉวยผ้าแพรขาดขึ้นพาดบ่า
ลงจากบันไดไคลคลา
น้ำตาคลอคลอจรลี ฯ ๘ คำฯ ทยอย


(โอ้ร่าย)
๏ ครั้นมาพ้นคอกวัวรั้วตราง
เหลียวหลังดูปรางค์ปราสาทศรี
เคยได้ค้างกายมาหลายปี
ครั้งนี้ตกยากจะจากไป
หยุดยืนสะอื้นอยู่อืดอืด
เดือนก็มืดเต็มทีไม่มีไต้
ฝนตกพรำพรำทำอย่างไร
ก็หยุดยืนร้องไห้อยู่ที่ร้าน ฯ๔ คำ ฯ โอด


(ช้า)
๏ เมื่อนั้น
โฉมระเด่นลันไดใจหาญ
ครั้นพลบค่ำเข็นบันไดไว้นอกชาน
ยกเชิงกรานสุมไฟใส่ฟืนตอง
แล้วเอนองค์ลงเหนือเสื่อกระจูด
นอนนิ่งกลิ้งทูดอยู่ในห้อง
เสนาะเสียงสำเนียงพิราบร้อง
ครางกระหึมครึ้มก้องบนกบทู
แว่วแว่วเค้าแมวในกลีบเมฆ
ดูวิเวกลงหลังคาเที่ยวหาหนู
พระเผยบัญชรแลชะแง้ดู
ดาวเดือนรุบรู่ไม่เห็นตัว
พระพายชายพัดอุตพิด
พระทรงฤทธิ์เต็มกลั้นจนสั่นหัว
หอมชื่นดอกอัญชันที่คันรั้ว
ฟุ้งตลบอบทั่วทั้งวังใน ฯ ๘ คำ ฯ


(ร่าย)
๏ หวนรำลึกนึกถึงนางประแดะ
ที่นัดแนะแต่เย็นเป็นไฉน
ดึกแล้วแก้วตาเห็นช้าไป
จะร้องไห้รำพึงถึงพี่ชาย
จำจะไปให้ทันดังสัญญา
ได้ย่องเบาเข้าหานางโฉมฉาย
จึงอาบน้ำทาแป้งแต่งกาย
สวมประคำดีควายสำหรับตัว
แหงนดูฤกษ์บนฝนพยับ
เดือนดับลับเมฆขมุกขมัว
ลงบันไดเดินออกมานอกรั้ว
โพกหัวกลัวอิฐคิดระอา
หลายครั้งตั้งแต่มันทิ้งกู
พระโฉมตรูเหลือบซ้ายแลขวา
แล้วผาดแผลงสำแดงเดชา
เดินมาตามตรอกซอกกำแพง ฯ ๘ คำ เชิด


๏ ประเดี๋ยวหนึ่งก็ถึงคอกโคขัง
จะเข้าได้ดอกกระมังยังไม่แจ้ง
เห็นกองไฟใส่สุมอยู่แดงแดง
แอบแฝงฟังอยู่ดูท่าทาง
เห็นทีท้าวประดู่ผู้ผัว
จะนอนเฝ้าวัวอยู่ข้างล่าง
แต่โฉมศรีนิฤมลอยู่ปรางค์
กูจะขึ้นหานางทางล่องแมว
จึงกลิ้งครกที่ใต้ถุนเข้าหนุนตีน
พระโฉมฉายป่ายปีนอยู่แด่วแด่ว
อกใจไม้ครูดขูดเป็นแนว
จะเห็นรักบ้างแล้วฤๅแก้วตา
พระประหวั่นพรั่นตัวกลัวจะตก
ทำหนูกกเจาะเจาะเคาะข้าฝา
ไฉนไม่คอยกันดังสัญญา
อนิจจานอนได้ไม่คอยรับ ฯ ๘คำฯ


๏ เมื่อนั้น
ท้าวประดู่สุริย์วงศ์โก้งโค้งหลับ
พอประสาทสะเทือนไหวตกใจวับ
ลุกขยับนิ่งฟังนั่งหลับตา
คิดว่ามเหสีที่ถูกถอง
แสบท้องหายโกรธเข้ามาหา
ให้นึกสมเพชเวทนา
สู้ทนทานด้านหน้ามาง้องอน
จะขับหนีตีไล่ไม่ไปจาก
อีร่วมเรือนเพื่อนยากมาแต่ก่อน
แล้วคลี่ผ้าคลุมหัวล้มตัวนอน
พระภูธรทำเฉยเลยหลับไป ฯ ๖ คำ ฯ


๏ เมื่อนั้น
ลันไดล้วงสลักชักกลอนได้
เปิดประตูเยื้องย่องเข้าห้องใน
เข้านั่งใกล้ในจิตคิดว่านาง
สมพาสยักษ์ลักหลับขึ้นทับบน
ท้าวประดู่เต็มทนอยู่ข้างล่าง
พระสรวมสอดกอดไว้มิได้วาง
ช้อนคางพลางจูบแล้วลูบคลำ ฯ ๔ คำฯ


๏ เมื่อนั้น
ท้าวประดู่ผุดลุกขึ้นปลุกปล้ำ
ตกใจเต็มทีว่าผีอำ
ต่างคนต่างคลำกันวุ่นไป
เอ๊ะจริตผิดแล้วมิใช่ผี
จะว่าพระมเหสีก็มิใช่
ขนอกรกนักทักว่าใคร
ตกใจฉวยตระบองร้องว่าคน
ลันไดโดดโผนโดนประตู
ท้าวประดู่ร้องโวยขโมยปล้น
ตะโกนเรียกเสนาสามนต์
มันไม่มีสักคนก็จนใจ
ระเด่นโดดโลดออกมานอกรั้ว
ผิดตัวแล้วกูอยู่ไม่ได้
ก็ผาดแผลงสำแดงฤทธิไกร
วิ่งไปตามกำลังไม่รั้งรอ ฯ ๘ คำ ฯ


๏ หมาหมู่กูไล่ไม่มีขวัญ
ปล่อยชันสามขาเหมือนม้าห้อ
เต็มประดาหน้ามืดหืดขึ้นคอ
ต้องหยุดยั้งรั้งรอมาตามทาง
ถึงโดยจะไล่ก็ไม่ทัน
ผิดนักสู้มันแต่ห่างห่าง
พอแว่วสำเนียงเหมือนเสียงคราง
อยู่ในร้านริมข้างหนทางจร
เอ๊ะผีฤๅคนขนลุกซ่า
พระหัตถ์คว้าฉวยอิฐได้สองก้อน
หยักรั้งตั้งท่าจะราญรอน
นี่หลอกหลอนเล่นข้าฤๅว่าไร
ครั้นได้ยินเสียงชัดเป็นสตรี
จะลองฤทธิ์สักทีหาหนีไม่
กำหมัดเยื้องย่องมองเข้าไป
แก่สาวคราวไหนจะใคร่รู้ ฯ ๘ คำฯ


๏ เมื่อนั้น
นางประแดะนั่งซุ่มคลุมหัวอยู่
สาละวนโศกาน้ำตาพรู
เห็นคนย่องมองดูก็ตกใจ
พอฟ้าแลบแปลบช่วงดวงพักตร์
เห็นระเด่นรู้จักก็จำได้
ทั้งสองข้างถอยทีดีใจ
ทรามวัยกราบก้มบังคมคัล ฯ ๔ คำ ฯ


๏ เมื่อนั้น
ระเด่นเห็นนางพลางรับขวัญ
นั่งลงซักไซ้ไล่เลียงกัน
ไฉนนั่นกัลยามาโศกี
พี่หลงขึ้นไปหานิจจะเอ๋ย
ไม่รู้เลยน้องแก้วแคล้วกับพี่
พี่ไปพบท้าวประดุ่ผู้สามี
เกิดอึงมี่ตึงตังทั้งพารา
มันจะกลับจับพี่เป็นผู้ร้าย
จะฆ่าเสียให้ตายก็ขายหน้า
เขาจะค่อนติฉินนินทา
อดสูเทวาสุราลัย
จะเอาเมียแล้วมิหนำซ้ำฆ่าผัว
คิดกลัวบาปกรรมไม่ทำได้
พี่ขอถามสาวน้อยกลอยใจ
เป็นไฉนกัลยามาโศกี ฯ ๘ คำฯ


๏ เมื่อนั้น
นางประแดะดวงยี่หวามารศรี
สะอื้นพลางทางทูลไปทันที
ทั้งนี้เพราะกรรมได้ทำไว้
ครั้งนี้มิชั่วก็เหมือนชั่ว
นางตีอกชกหัวและร้องไห้
ยังจะกลับมาเยาะนี่เพราะใคร
ดูแต่หลังไหล่เถิดพ่อคุณ
เขาขับหนีตีไล่ไสหัวส่ง
เพราะพระองค์ทำความจึงวามวุ่น
แต่รอดมาได้เห็นก็เป็นบุญ
อย่าอยู่เลยพ่อคุณเขาตีตาย ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น
ลันไดได้ฟังนางโฉมฉาย
เขม้นมองดูหลังยังไม่ลาย
พระจูบซ้ายจูบขวาห้าหกที
เอาพระหัตถ์ช้อนคางแล้วพลางปลอบ
อยู่พะอืดพะออบเลยโฉมศรี
จะละห้อยน้อยใจไปไยมี
บุญพี่กับนางได้สร้างมา
อันระตูฤๅจะคู่กับอนงค์
มิใช่วงศ์อสัญแดหวา
โฉมเฉลาเจ้าเหมือนบุษบา
จรกาฤๅจะควรกับนวลน้อง
ถ้าเป็นระเด่นเหมือนเช่นพี่
จึงควรที่ร่วมภิรมย์ประสมสอง
ตรัสพลางทางชวนนวลละออง
เยื้องย่องนำพานางเดิน ฯ ๘ คำฯ เพลง


๏ ครั้นถึงจึงขึ้นบนตำหนัก
ตงหักกลัวจะตกงกเงิ่น
ค่อยพยุงจูงนางย่างดำเนิน
ชวนเชิญโฉมเฉลาเข้าที่นอน
ลดองค์ลงเหนือไสยาสน์
พระยี่ภู่ปูลาดขาดสองท่อน
แล้วจึงมีมธุรสสุนทร
อ้อนวอนโฉมเฉลาให้เข้ามุ้ง ฯ ๔ คำ ฯ


(โอ้โลม)
๏ โฉมเอยโฉมเฉิด
เอนหลังบ้างเถิดจวนจะรุ่ง
เสียแรงพี่รักเจ้าเท่ากระบุง
จะไปนั่งทนยุงอยู่ทำไม
เชิญมาร่วมเรียงเคียงเขนย
อย่าทุกข์เลยพี่จะหามาเลี้ยงให้
เรามั่งมีศรีสุขทุกข์อะไร
เงินทองถมไปที่ในคลัง
แต่ข้าวสารให้ทานพี่นี้ฤๅ
ไม่พักซื่อได้ขายเสียหลายถัง
ทั้งปลาแห้งปลาทูปูลัง
เสบียงกรังมีมากไม่ยากจน
ขี้คร้านขายนมวัวเหมือนผัวเจ้า
พี่ได้เปล่าสารพัดไม่ขัดสน
จงนั่งกินนอนกินสิ้นกังวล
พี่จะขวนขวายหาเอามาเลี้ยง
ว่าพลางทางตระโบมโลมเล้า
อะไรเล่าฮึดฮัดเฝ้าฟัดเหวี่ยง
อุแม่เอ๋ยมิได้เจ้าใกล้เคียง
จะตกเตียงไปแล้วแก้วกลอยใจ ฯ ๑๐ คำ ฯ


(ร่าย)
๏ เมื่อนั้น
นางประแดะคลุ้มคลั่งผินหลังให้
ถอยถดขยดหนีภูวไนย
นี่อะไรน่าเกลียดเบียดคะยิก
ลูกผัวหัวท้ายเขาไม่ขาด
ทำประมาทเปล่าเปล่าเฝ้าหยุกหยิก
ปัดกรค้อนควักผลักพลิก
อย่าจุกจิกกวนใจไม่สบาย
อย่าพักอวดสมบัติพัสถาน
ไม่ต้องการดอกจะสู้อยู่เป็นหม้าย
หนีศึกปะเสือเบื่อจะตาย
เฝ้ากอดก่ายไปได้ไม่ละวาง ฯ ๖ คำ ฯ
(ชาตรี)


๏ สุดเอยสุดลิ่ม
เชิญผินหน้ามายิ้มกับพี่บ้าง
เฝ้าถือโทษโกรธเกรี้ยวไปเจียวนาง
ไม่เห็นอกพี่บ้างที่อย่างนั้น
เหมือนน้ำอ้อยใกล้มดใครอดได้
พี่ก็ไม่มีคู่ตุนาหงัน
ตั้งแต่นวดปวดท้องมาสองวัน
ใครจะกลั้นอดทนพ้นกำลัง
ทำไมกลับลูกผัวกลัวมันไย
ผิดก็เสียสินไหมให้ห้าชั่ง
จูบเชื่อเสียก็ได้แล้วไม่ฟัง
ลูบหน้าลูบหลังนั่งแอบอิง
น้อยฤๅนมแต่ละข้างช่างครัดเคร่ง
ปลั่งเปล่งใจหายคล้ายกล้วยปิ้ง
อุ้มขึ้นใส่ตักรักจริงจริง
อย่าสะบิ้งสะบัดตัดไมตรี
ยิ่งดิ้นยิ่งกอดสอดสัมผัส
อุยหน่าอย่ากัดพระหัตถ์พี่
ปัดป้องว่องไวอยู่ในที
จนล้มกลิ้งลงบนที่บรรทมใน
อัศจรรย์ลั่นพิลึกกึกก้อง
ฟ้าร้องครั่นครื้นดังปืนใหญ่
เกิดพายุโยนยวบสวบสาบไป
หลังคาพาไลแทบเปิดเปิง
ฝนตกห่าใหญ่ใส่ซู่ซู่
ท่วมคูท่วมหนองออกนองเจิ่ง
คางคกขึ้นกระโดดโลดลองเชิง
อึ่งอ่างเริงร่าร้องแล้วพองคอ
นกกระจอกออกจากวิมานมะพร้าว
ต้องฝนทนหนาวอยู่งอนหง่อ
ขนคางหางปีกเปียกจนมอซอ
ฝนก็พอขาดเม็ดเสร็จบันดาล ฯ ๑๖ คำ โลม


๏ เมื่อนั้น
นางประแดะหูกลวงห่วงสงสาร
ได้ร่วมรักชักเชยก็ชื่นบาน
เยาวมาลย์หมอบเมียงเคียงกาย
แล้วเชิญหม้อตุ้งก่าออกมาตั้ง
นางนั่งเป่าชุดจุดถวาย
ทรงศักดิ์ชักพลางทางยิ้มพราย
โฉมฉายขวั้นอ้อยคอยแก้คอ
ถูกเข้าสามจะหลิ่มยิ้มแหยะ
นางประแดะสรวลสันต์กลั้นหัวร่อ
พระโฉมยงทรงขับเพลงซอ
ฉลองหอทรงธรรม์แล้วบรรทม ฯ ๖ คำ ฯ ตระ


(ช้า)
๏ มาจะกล่าวบทไป
ถึงนางกระแอทวายขายขนม
เจ้าเงินโปรดปรานพานอุดม
นุ่งห่มผืนผ้าค่าบาทเฟื้อง
ผูกดอกออกจากฟากเรือนนาย
ลดเลี้ยวเที่ยวขายข้าวเหนียวเหลือง
ตามตลาดเสาชิงช้ามาเนืองเนือง
ปลดเปลื้องเฟื้องไพได้ทุกวัน
กับโฉมยงองค์ระเด่นลันได
รักใคร่กันอยู่ก่อนเคยผ่อนผัน
เชื่อถือซื้อขายเป็นนิรันดร์
เว้นวันสองวันหมั่นไปมา น ๖ คำ ฯ


(ร่าย)
๏ วันเอยวันหนึ่ง
คิดถึงลันไดจะไปหา
นึ่งข้าเหนียวใส่กระจากยาตรา
ตรงมาหาชู้คู่ชมเชย
เที่ยวเตร็ดเตร่เร่ร้องแล้วท่องเที่ยว
ซื้อข้าวเหนียวหน้ากุ้งกินแม่เอ๋ย
ที่รู้จักทักถามกันตามเคย
บ้างเยาะเย้ยหยอกยื้อซื้อหากัน
พอเวลาตลาดวายสายแสง
กระเดียดตระแกรงกรีดกรายผายผัน
ทอดกรอ่อนคอจรจรัล
มาปราสาทสุวรรณเจ้าลันได ฯ ๖ คำ ฯ เพลงช้า


๏ ครั้นถึงจึงขึ้นบนนอกชาน
เห็นทวารบานปิดคิดสงสัย
ทั้งเสียงคนคุยกันอยู่ขั้นใน
ทรามวัยแหวกช่องมองดู
เห็นโฉมยงองค์ประแดะกับระเด่น
คลี่ผ้าหาเล็นกันง่วนอยู่
โมโหมืดหน้าน้ำตาพลู
ดังหัวหูจะแยกแตกทำลาย
นี่เมียอ้ายประดู่อยู่หัวป้อม
ไยจึงมายินยอมกันง่ายง่าย
ทั้งสีจักรยักหล่มถ่มร้าย
มันจะให้ฉิบหายขายตน
ชิชะเจ้าระเด่นพึ่งเห็นฤทธิ์
แต่ผ้านุ่งยังไม่มิดจะปิดก้น
จองหองสองเมียจะเสียคน
คิดว่ายากจนเฝ้าปรนปรือ
จึงแกล้งเรียกพลันเจ้าลันได
ค่าข้าเหนียวสองไพไม่ให้ฤๅ
ผ่อนผัดนัดหมายมาหลายมื้อ
แม่จะยื้อให้อายขายหน้าเมีย ฯ ๑๐ คำ ฯ


๏ เมื่อนั้น
โฉมระเด่นลันไดแรกได้เสีย
กำลังนั่งเคล้าเฝ้าคลอเคลีย
ชมโฉมโลมเมียอยู่ริมมุ้ง
ยกบาทพาดเพลาเกาสีข้าง
สัพยอกหยอกนางอย่างลิงถุง
แล้วยื่นมือมาจี้เข้าที่พุง
นางสะดุ้งดุกดิกพลิกตะแคง
เขาจะนอนดีดีเฝ้าจี้ไช
ช่างกระไรหน้าเป็นเอ็นแข็ง
จะนิ่งอยู่สักประเดี๋ยวทำเรี่ยวแรง
มาแหย่แย่งกวนใจไปทีเดียว
พอระเด่นลันไดยินเสียงเรียกหา
ก็รู้ว่าชู้เก่าเจ้าข้าวเหนียว
จึงร้องว่าใครนั่นขันจริงเจียว
จะมาเที่ยวจัณฑาลพาลเอาความ
ค่าข้าเหนียวสองไพข้าให้แล้ว
มาทำเสียงแจ้วแจ้วไม่เกรงขาม
ไม่ได้ติดค้างมาอย่าวู่วาม
ลุกลามสิ้นทีมีแต่อึง ฯ ๑๐ ฯ เจรจา


๏ เมื่อนั้น
นางทวายยิ่งพิโรธโกรธขึ้ง
ยืนกระทืบบนนอกชานอยู่ตึงตึง
หึงหวงด่าว่าท้าทาย
นี่แน่อ้ายสำเร็จเจ็ดตะคุก
มาลืมคุณข้าวสุกเสียง่ายง่าย
กูเชื่อหน้าคิดว่าลูกผู้ชาย
จึงสู้ขายติดค้างยังไม่รับ
ช่างโกหกพกลมประสมประสาน
จะประจานเสียให้สมที่สับปลับ
แต่เบี้ยติดสองไพยังไม่รับ
กูสิ้นนับถือแล้วอ้ายลันได ฯ ๖ คำ ฯ


๏ เมื่อนั้น
ระเด่นตอบตามอัชญาสัย
เขาขี้คร้านพูดจาอย่าหนักไป
ข้ารู้ใจเจ้าดอกกัลยา
เจ้าพิโรธโกรธขึ้งเพราะหึงหวง
จึงจาบจ้วงล่วงเกินเป็นหนักหนา
ข้าผิดแล้วกลอยใจได้เมตตา
เชิญเข้ามาเคหาปรึกษากัน ฯ ๔ คำฯ


บทละคอนเรื่อง ระเด่นลันได ตามฉบับเดิม ที่ได้เคยเห็นมาแต่ก่อน เรื่องนี้ต่อไป นางทวายเข้าไปในเรือน เกิดทะเละ กับ นางประแดะ นางทวายไล่ตีนางประแดะ ลอดล่องหนีไป แล้วระเด่นลันได โลมนางทวายเข้าห้อง เป็นหมดเรื่อง เพียงนั้น พอได้เล่มสมุดไทย ๑ หนังสือเรื่องนี้ มีผู้ชอบกันมาก มันบ่นกันว่า เสียดายที่จบเสีย จึงมีผู้อื่นแต่งต่อ คิดผูกเรื่องต่อไป ตามอำเภอใจอีกยืดยาว อย่างเช่นพิมพ์ขายในตลาด สำนวนไม่ถึงตอนต้น ด้วยผู้แต่ง ไม่มีความสามารถ ในวรรณคดี เหมือนพระมหามนตรี (ทรัพย์) ทั้งเรื่องที่ต่อ ก็ไม่เป็นเรื่องจริง ดังตอนต้น จึงได้ตัดเสีย ไม่พิมพ์ในสมุดเล่มนี้ คงพิมพ์ที่พระมหามนตรี (ทรัพย์) แต่ง มีฉบับในหอพระสมุด ฯ เพียงเท่านี้










จากหนังสือบทละคอนพระมะเหลเถไถ อุณรุทร้อยเรื่อง ระเด่นลันได
จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์บรรณาคาร โดยการอนุญาตจากกรมศิลปากร,
พ.ศ.๒๕๑๔ หน้า ๒๐๓-๒๖๐